SET Note ฉบับที่ 6/2562 “หุ้นค้าปลีกไทยอยู่อันดับไหนในอาเซียน ?” น.ส. ปฐมาภรณ์ นิธิชัย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 22, 2019 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเมืองเติบโตขึ้น จำนวนประชากรที่อยู่อาศัยหรือทำงานในเขตเมืองย่อมเพิ่มขึ้นตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ไม่เพียงการขายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเดิม แต่ต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบใหม่ของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น บริการอาหารพร้อมรับประทาน บริการงานออกแบบและซ่อมแซม บริการด้านการชำระเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ในด้านการจัดการรูปแบบสาขาและสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี big data analytic เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละบุคคล รวมถึงการพัฒนา e-commerce และบริการขนส่งสินค้า ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยในกลุ่มค้าปลีกเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 และมีการจ้างงาน 1.7 แสนคนในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.6% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 ธุรกิจค้าปลีกไทยไม่ได้เติบโตเฉพาะในประเทศ ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยในกลุ่มค้าปลีกขยายธุรกิจในต่างประเทศจำนวนมากทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน และมีแผนที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับในอาเซียน บริษัทมีรูปแบบการขยายธุรกิจทั้งการเปิดสาขาใหม่เอง และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น เช่น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดสาขา BigC ในเวียดนาม และลาว บมจ.โรบินสัน (ROBINS) เปิดสาขาโรบินสันในเวียดนาม บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เปิดสาขาในกัมพูชา และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นขยายสาขาในลาว และเมียนมา บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เปิดสาขาแม็คโครในกัมพูชา และ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เปิดสาขาโฮมโปรในมาเลเซีย นอกจากนี้หลายบริษัทยังมีสาขาหรือมีแผนขยายสาขานอกภูมิภาคอาเซียน เช่น อินเดีย จากศักยภาพในการเติบโตดังกล่าวส่งผลให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีกของไทย 6 บริษัทติด 10 อันดับหุ้นค้าปลีกอาเซียน1 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุด โดย บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนทั้งด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 24,316 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 15,742 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตารางที่ 1) ธุรกิจค้าปลีกเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง 1 การวิเคราะห์หุ้นค้าปลีกอาเซียนรวบรวมข้อมูลจาก Bloomberg สำหรับหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม Retailing, Food & Stable Retailing, Household & personal product ตามมาตรฐาน Global Industry Classification Standard แต่ไม่รวมถึงหุ้นของบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีก Disclaimer: ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวคิดแก่ผู้อ่าน มิใช่การให้คำแนะนำด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้ให้การรับรองในความถูกต้องของข้อมูล และไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการนำข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้อ้างอิง หรือเผยแพร่ไม่ว่าในลักษณะใด นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่เห็นสมควร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ