ตลาดหุ้นทั่วโลก ปิดผสมผสาน ท่ามกลางความกังวลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังไม่คืบหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 23, 2019 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 22 – 26 กรกฎาคม 2562 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 ก.ค.) ตลาดหุ้นทั่วโลก ปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ เนื่องจาก การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังไม่มีความคืบหน้า และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลายราย ระบุว่า พร้อมจะปรับลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% น้อยกว่าที่นักลงทุนบางส่วนคาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมสิ้นเดือนก.ค. นี้ ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดลบ โดยได้รับแรงกดดันจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ และความกังวลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของญี่ปุ่น จากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก จากความคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้านราคาน้ำมัน ปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้น หลังบริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก เริ่มกลับมาดำเนินการผลิต และสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงน้อยกว่าคาด ขณะที่ราคาทองคำ ปิดบวก จากความกังวลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังไม่คืบหน้า และ Fed ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ โดยนักลงทุนกังวลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังไม่คืบหน้า แม้ตลาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธาน Fed สาขานิวยอร์ก ทำให้นักลงทุนคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในการประชุม 30-31 ก.ค.นี้ แต่ตลาดฯ ได้ลดช่วงบวกลง หลังเจ้าหน้าที่ Fed หลายรายชี้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% แต่ไม่ถึง 0.5% ในการประชุมสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก เนื่องจาก นักลงทุนคาดว่า ECB จะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า และ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสิ้นเดือน ก.ค.นี้ แต่ตลาดฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด นักลงทุนกังวลการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังไม่คืบหน้า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดลบ ได้รับแรงกดดันจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่น และ คาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนนี้ ตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปิดลบ เนื่องจาก นักลงทุนกังวลข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุการเจรจายังไม่คืบหน้า และขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับประเด็น บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยียังมีอยู่ ตลาดหุ้นไทย ปรับลดลงช่วงต้นสัปดาห์ จากความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน แต่ดัชนีฯ ลดช่วงลบลงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังประธาน Fed สาขานิวยอร์ก ส่งสัญญาณการเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ "ฟิทช์ เรทติ้งส์" ยังได้ปรับเพิ่มมุมมองประเทศไทยจาก "Stable" เป็น "Positive" ตลาดน้ำมัน ปิดร่วงลง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้น โดยบริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกได้เริ่มกลับมาผลิตแล้วกว่า 80% หลังเผชิญพายุเฮอร์ริเคน Barry ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านลดลง และ สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงน้อยกว่าคาด ตลาดทองคำ ปิดบวก นักลงทุนกังวลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ไม่คืบหน้า และ Fed ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย แต่ราคาลดช่วงบวกลง หลังเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ แข็งค่า เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS) การประชุม ECB (25 ก.ค.) คาดว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate) อยู่ที่ 0% พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB อยู่ที่ -0.40% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ที่ 0.25% อย่างไรก็ดี นักลงทุนคาดว่า ECB จะเริ่มส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ย. และ การเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือน ต.ค.เพื่อหนุนเศรษฐกิจยูโรโซนที่ซบเซาลง คาดว่า นายบอริส จอห์นสัน มีโอกาสค่อนข้างมาก ที่จะได้รับการโหวตเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นนายกฯของอังกฤษคนต่อไป และอาจผลักดันให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยไม่มีข้อตกลง (No Deal) ภายในเส้นตายสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอังกฤษและยุโรปต่อไป คาดว่า ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2562 ของสหรัฐฯ จะขยายตัวชะลอลงจากในไตรมาส 1/2562 จากการชะลอตัวของภาคการผลิตและลงทุน มุมมองของเราในสัปดาห์นี้ ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลักๆ ของโลก ได้แก่ Fed และ ECB อย่างไรก็ตาม ตลาดฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด เนื่องจาก ความกังวลต่อประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) โดยไม่มีข้อตกลง (No deal) หากนายบอริส จอห์นสัน ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคนต่อไป รวมทั้ง ประเด็นความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะกรณีของบริษัท หัวเว่ย และความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สำหรับตลาดหุ้นไทย คาดว่า จะได้รับปัจจัยกดดันจากการรายงานตัวเลขส่งออกในเดือน มิ.ย.ที่หดตัวลง จากผลกระทบของสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรอติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา (25-26 ก.ค.) และการทยอยประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/2562 ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้ ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองของสหรัฐฯ / ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ / GDP ไตรมาส 2/2562 ของสหรัฐฯ / ดัชนี PMI ภาคการผลิต ของสหรัฐฯ ยุโรป เยอรมนี และญี่ปุ่น / การส่งออก ของไทย เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุม ECB / ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ / การเลือกตั้งสภาสูงของญี่ปุ่น/ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 / การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน / รัฐบาลไทยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ