รพ.จิตเวชโคราช แนะวิธีรับมือ “เครียดจากภัยแล้ง” ให้ปรับใจยอมรับ ช่วยเติมกำลังใจให้กันให้ชื้น

ข่าวทั่วไป Tuesday July 23, 2019 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.จิตเวชนครราชสีมา แนะวิธีรับมือปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง โดยให้ปรับใจยอมรับสถานการณ์ ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ประการสำคัญให้ช่วยเติมกำลังใจให้กัน พร้อมสอดส่องหาผู้กำลังมีทุกข์ ใส่ใจรับฟัง และส่งมอบความช่วยเหลือกันในเบื้องต้น หากเกิดความเครียดให้ใช้เทคนิคการสลายง่ายๆ คือควบคุมลมหายใจเข้า-ออกช้าๆ จะช่วยให้สมองโล่งขึ้น หากยังไม่ดีขึ้นเช่นนอนไม่หลับ กังวลใจ ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ที่เกิดในพื้นที่4 จังหวัดอีสานตอนล่างในเขตนครชัยบุรินทร์ ได้แก่นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ ว่า เป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนในเบื้องต้น อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ ขอแนะนำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบใช้วิธีการรับมือกับปัญหาโดยเฉพาะความเครียดที่เกิดขึ้น โดยให้ปรับสภาพใจยอมรับสถานการณ์ ดำเนินชีวิตโดยใช้หลัก 4 ส. และช่วยเติมกำลังใจให้กันและกัน จะทำให้จิตใจชุ่มชื้นขึ้น เนื่องจากผลกระทบจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น สำหรับการดำเนินชีวิตด้วยหลัก 4 ส. ประกอบด้วย ส. แรกคือ การอยู่อย่างมีสติ แก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล โดยใช้หลักการแบ่งปันช่วยเหลือกัน และอีก 3 ส.คือการปฏิบัติช่วยเหลือดูแลจิตใจกันในยามประสบภัยไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ผู้ใกล้ชิดและเพื่อนบ้าน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ดังนี้ ส.ที่1 ช่วยกันสอดส่อง มองหา ผู้กำลังมีความทุกข์ใจและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เช่นผู้มีอาการเศร้าซึม นั่งเหม่อลอยผิดปกติเป็นต้น ส.ที่ 2. ให้ใส่ใจรับฟัง เพื่อให้ผู้ที่กำลังเผชิญทุกข์บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ที่อยู่ในใจออกมา จะช่วยอารมณ์สงบขึ้น และสบายใจหรือใจชื้นขึ้น และส.ที่ 3. คือการส่งมอบความช่วยเหลือแบ่งปันสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้กัน เช่นน้ำดื่ม อาหาร ยา จะช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนในขั้นต้นได้ และหากผู้ที่มีทุกข์ใจยังไม่ดีขึ้น เช่นนอนไม่หลับ วิตกกังวล ให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการดูแลต่อเนื่องจนหายขาด ทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้ประสบภัยทุกคนก้าวข้ามผลกระทบจากภัยแล้งอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ขอให้กินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนมีความเครียด คับข้องใจ ซึ่งมีสัญญาณอาการคือ อารมณ์หงุดหงิดง่ายโดยไม่มีสาเหตุ ไม่อยากพูดกับใคร อยากอยู่คนเดียว คิ้วขมวดโดยไม่รู้ตัว ไม่มีสมาธิ ขอแนะนำให้ใช้เทคนิคคลายเครียดเบื้องต้นโดยการฝึกควบคุมลมหายใจเข้า-ออก มี 4 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้ 1.นั่งในท่าสบายและให้หลับตาเพื่อตัดสิ่งรบกวนภายนอก ประสานมือและไว้ที่หน้าท้อง 2. ค่อยๆสูดลมหายใจเข้า พร้อมกับนับเลขในใจ 1 ถึง 4 เป็นจังหวะช้าๆ ให้รู้สึกว่าท้องพองออก 3. ให้กลั้นลมหายใจเอาไว้สักครู่ แล้วนับ1-4 เป็นจังหวะช้าๆเช่นเดียวกับหายใจเข้า และ4. ค่อยๆผ่อนลมหายใจออก โดยนับ 1-8 อย่างช้าๆ พยายามไล่ลมหายใจออกมาให้หมด จะสังเกตได้คือหน้าท้องจะแฟบลง โดยให้ทำซ้ำๆตามขั้นตอนติดต่อกันประมาณ 4-5 ครั้ง ผลของการฝึกควบคุมลมหายใจเข้า-ออกดังกล่าว จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง สมองจะแจ่มใสขึ้นเนื่องจากได้รับออกซิเจนมากขึ้น การหายใจออกอย่างช้าๆจะช่วยให้เรารู้สึกว่าได้ปลดปล่อยความเครียดออกไปจากตัวเราอย่างหมดสิ้น หรือรู้สึกโล่งขึ้น เทคนิคการควบคุมลมหายใจนี้ควรฝึกทุกครั้งที่รู้สึกเครียด หรือรู้สึกโกรธ รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ หรือฝึกทุกครั้งที่นึกได้จะช่วยได้ดี สิ่งที่ไม่ควรนำมาใช้แก้ความเครียด คือการดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดอื่นๆรวมทั้งการสูบบุหรี่ เนื่องจากไม่ได้ช่วยลดความเครียดที่แท้จริง และยังก่ออันตรายคุกคามสุขภาพตามมาได้ นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ