GBS จับตาเฟดหั่นดอกเบี้ย 0.25%-0.50% แนะเก็งกำไรหุ้นงบ Q2 เด่นชู VL-AMA-TACC-JUBILE-SABINA-NER

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2019 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ บล. โกลเบล็ก มองหุ้นไทยลุ้นการประชุมเฟดหั่นดอกเบี้ย 0.25%-0.50% พร้อมแนะจับตาการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน และการประกาศงบไตรมาส 2/62 ที่จะทยอยออกมา ให้กรอบดัชนี 1,690-1,725 จุด แนะกลยุทธ์เก็งกำไรหุ้นผลประกอบการไตรมาส 2/62 เติบโตโดเด่น ชู VL, AMA, TACC, JUBILE, SABINA และ NER ส่วนกลยุทธ์ลงทุนทองรอผลประชุมเฟดโดยให้กรอบราคาทองคำ 1,400-1,430 ดอลลาร์ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS เปิดเผยว่า ดัชนีทิศทางตลาดหุ้นไทย มีโอกาสพักฐาน เนื่องจากนักลงทุนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 31ก.ค. โดยต่างคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%-0.50% เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลข GDP สหรัฐในช่วงไตรมาส 2/2562 ลดลงเหลือ 2.1% ลดลงจากระดับ 3.1% ในไตรมาส 1/2562 ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้หากเฟดมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% คาดตลาดจะขายทำกำไรในเชิง sell on fact หากเฟดมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% คาดตลาดจะตอบรับในเชิงบวกจาก fund flow ไหลกลับ หากเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมคาดจะทำให้ตลาดผิดหวังและพักฐานแรง ทั้งนี้ ประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนสัปดาห์นี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อไปที่จะมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยหลังจากทราบผลการประชุมเฟดแล้ว ประกอบกับราคาน้ำมันทรงตัวที่ระดับสูงจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงตึงเครียด อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมที่ -0.1% ต่อไป รวมทั้งยังคงระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีสัญญาณชี้นำล่วงหน้าบ่งชี้ว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยเดิมต่อไปอีก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายกับธนาคารกลางของหลายประเทศ สำหรับปัจจัยในประเทศนักลงทุนยังติดตามการประกาศงบของหุ้นกลุ่มพลังงานที่เริ่มทยอยออกมา คาดดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,690-1,725 จุด นางสาว วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า สิ่งที่ยังคงกดดันภาพรวมตลาดหุ้นไทยในขณะนี้นั้น เช่น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ข้อสรุป โดยประธานาธิบดีสหรัฐคาดว่าจีนจะดึงเกมการเจรจาไปหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้าก็เป็นได้ รวมทั้งภาพแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวจากล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง Q2/2562 หดตัว 2.64% จากผลกระทบของแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่การรายงานตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในงวดไตรมาส 2/2562 คาดว่ามีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบันทึกสำรองผลประโยชน์พนักงาน ส่วนประเด็นที่ต้องจับตาในวันนี้ การรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย และจีนจะมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตและภาคบริการในเดือนกรกฎาคม รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประชุมวันสุดท้ายแล้วแถลงมติที่ประชุมซึ่งในประเทศไทยจะรู้ผลในเช้าวันที่ 1 สิงหาคม และสหรัฐจะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนกรกฎาคม พร้อมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนกรกฎาคม และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ อีกทั้งในวันที่ 1 ส.ค. ทางอียู จีน เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคม สหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคม ดัชนีภาคการผลิตเดือนกรกฎาคม การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนมิถุนายน และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ในวันที่ 2 ส.ค. ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานการประชุม รวมทั้ง อียู เปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน และสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค. ดุลการค้าเดือนมิ.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานมิ.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม และในวันที่ 5 ส.ค. จีน จะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนกรกฎาคม ส่วนอียู เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ค.จากมาร์กิต และสหรัฐ เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ค. และดัชนีภาคบริการเดือนมิ.ย. แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้น Mid & Small ที่คาดผลประกอบการไตรมาส 2/2562 เติบโตดี เช่น VL, AMA, TACC, JUBILE, SABINA และ NER รวมทั้งหุ้น Theme EEC play เช่น AMATA, WHA, ROJNA, EASTW, ATP30 และ ORI และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เช่น STEC, CK, STPI และ SEAFCO สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก แนะนำให้ลดสถานะก่อนทราบผลการประชุมเฟดในคืนวันพุธที่ 31 ก.ค. เนื่องจากว่าราคาทองคำปรับตัวขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. 11% ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 4.7% (จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สหรัฐ และเวียดนาม) ทำให้ทองคำเป็นเป้าหมายในการทำกำไรและมีโอกาสปรับตัวลงเนื่องจากรับรู้ข่าวเรื่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว มองกรอบราคาทองคำ 1,400-1,430 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นราคาทองคำไทยที่ 20,380-20,860 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ