รายการแดนสนธยา ตอน มหาปฐพี วันที่ 18-22 ก.พ 51 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี

ข่าวบันเทิง Thursday February 14, 2008 12:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
พบกับสารคดีชุดยิ่งใหญ่จาก บีบีซี เปิดเผยทุกแง่มุมของโลกใบนี้ตั้งแต่โลกยุคโบราณ ที่หลายอย่าง ไม่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน เจาะลึกไปในหลากดินแดน ตั้งแต่มหาสมุทร แผ่นดิน ขุนเขา ไปจนถึงภูเขาไฟ ความลับของธรรมชาติที่ทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ ชีวิตในอดีตตั้งแต่ยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลก และทะเลทรายยังเต็มไปด้วยน้ำ
วันจันทร์ที่ 18 ก.พ. 51
พบพลังธรรมชาติที่สร้างสรรค์โลก ไขความลับของดาวเคราะห์ดวงน้อยที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต จากหลักฐานทางธรณีวิทยา ภูเขาไฟที่น่าทึ่งที่สุดของโลก เออร์ต้า อาเล่ (Erta Ale) ในเอธิโอเปีย ที่สามารถพาคุณย้อนอดีตกลับไป 4,500 ล้านปี ในสมัยที่มหาทวีปมีเพียงผืนเดียว หรือเรียกว่า แพนเจีย (Pangea) ความร้อนใต้พิภพที่ไม่เคยหลับใหล ทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวตลอดเวลา ส่งผลให้มหาทวีปแตกแยกจากกัน และเกิดการปะทะพุ่งชนกันของแผ่นเปลือกโลก เกิดเป็นรอยย่น พื้นดินโก่งตัวยกขึ้น จนกลายเป็นเทือกเขาทอดยาวตลอดแนว ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจในปัจจุบัน
วันอังคารที่ 19 ก.พ. 51
พลังความร้อนใต้พิภพผลักดันให้เทือกเขาเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ บางลูกเกิดจาก ความร้อนที่มีมากมายมหาศาลใต้ผืนดินจนระเบิดขึ้นเป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับสนิท พบจุดที่มีปฏิกิริยาภูเขาไฟมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภูเขาไฟโรตารัว (Rotarua) บนเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ ที่มีภูมิประเทศคล้ายคลึงกับสภาพของโลกในยุคแรกเริ่ม การปะทุของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่องนี้เอง ที่ช่วยสร้างสภาวะที่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
วันพุธที่ 20 ก.พ. 51
ลาวา ความร้อนใต้พิภพที่พวยพุ่งออกมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ ช่วยทำให้เข้าใจเกี่ยวกับการอุบัติขึ้นของสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกใบนี้ บ่อน้ำร้อน หรือน้ำพุร้อนทั่วโลก ที่เกิดจากส่วนของเปลือกโลก ที่บาง และความร้อนที่อัดแน่นอยู่เบื้องล่าง มีสภาพใกล้เคียงกับบ่อน้ำร้อนในโลกยุคแรกเริ่ม น้ำที่อุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส ที่เต็มไปด้วยสารพิษ ก๊าซไข่เน่า ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และมีสารหนูเจือปน เป็นสถานที่ ที่จุลินทรีย์ชนิดเก่าแก่นับพันหมื่นแสนล้านตัวอาศัยอยู่ โดยก่อตัวเป็นเส้นใยสีส้ม และใช้สารเคมีที่เป็นพิษในน้ำเป็นสารอาหารอย่างดี ขณะที่ปล่องน้ำพุร้อนใต้มหาสมุทรลึก ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกันที่พลังงานความร้อน มวลแม็กม่าที่ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอาหารทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโต หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตหลากหลาย และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้สิ่งมีชิวิตถือกำเนิดขึ้น
วันพฤหัสบดีที่ 21 ก.พ. 51
พบความลับของภูเขาไฟที่ช่วยปกป้องโลกไม่ให้กลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อปฏิกิริยา ที่ภูเขาไฟระเบิดขึ้นมากมายในโลกยุคแรกเริ่ม ส่งผลให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กระจายฟุ้งอยู่ในชั้นบรรยากาศ คาร์บอนไดออกไซด์นี้เองที่ช่วยกักความร้อนให้กับโลกในยามที่ดวงอาทิตย์อ่อนแสง พบกับสิ่งมีชีวิตรูปแบบเก่าแก่ที่สุดที่ยังเหลือรอดอยู่จนถึงปัจจุบันใน อ่าวชาร์คเบย์ ทางออสเตรเลียตะวันตก ก้อนหินที่เกิดจากแบคทีเรียทับถม เป็นชั้นๆ หรือเรียกว่า สโตรมาโทไลท์ (Stromatolite) ที่เคยยึดครองโลกโดยไร้คู่แข่งกว่า 2,000 ล้านปี เป็นผู้บุกเบิกอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตยุคหลังอีก 700 ล้านปีต่อมา
วันศุกร์ที่ 22 ก.พ. 51
พบหลักฐานทางภัยพิบัติซึ่งเชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เมื่อหินก้อนใหญ่ที่จมอยู่ก้นแม่น้ำที่เงียบสงบ ประเทศนามิเบีย ช่วยไขปริศนาหินหล่นจม (Dropstone) และการกำเนิดสิ่งมีชีวิตมากมายในปัจจุบัน อดีตเมื่อ 700 ล้านปีก่อน โลกทั้งใบจมอยู่ในฤดูน้ำแข็ง หรือโลกก้อนหิมะ (Snowball Earth) สภาพอากาศที่เย็นเยือกจนแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่ ภูเขาไฟได้ระเบิดผ่านแผ่นดินน้ำแข็ง และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ออกมาปกคลุมโลกให้ร้อนขึ้นจนน้ำแข็งรอบโลกทั้งหมดเกิดการละลายครั้งใหญ่ หินหล่นจมฝังอยู่ในภูเขาน้ำแข็ง ก็หล่นทิ้งลงมาเมื่อภูเขาน้ำแข็งละลาย และสิ่งมีชีวิตที่เหลืออยู่รอดชนิดเดียวในโลกยุคน้ำแข็ง สโตรมาโทไลท์ (Stromatolite) และการเกิดใหม่ของสัตว์หลายเซลล์ อีดิแอ็ครัน (Ediacran) เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญที่สุด ในประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิต
ติดตามชม “มหาปฐพี” ในรายการแดนสนธยา
วันที่ 18 - 22 กุมภาพันธ์ 2551 ตั้งแต่เวลา 18.00 — 18.30 น.ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2434-8300 / 0-2434-8547 คุณสุจินดา, คุณแสงนภา และคุณวิภาวัลย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ