“Green To Gray” แนวทางการฟื้นฟูปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยตัวเอง

ข่าวทั่วไป Wednesday July 31, 2019 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม "ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การสูญเสียระบบนิเวศหาด ฉะนั้น ตัวชี้วัดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา คือ สถานภาพของระบบนิเวศหาด" ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแนวของชายหาดที่ถอยร่นเข้ามาบนฝั่งหรือแผ่นดินมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งที่ต้องอาศัยหาดรูปแบบต่างๆ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น ปูลม ผักบุ้งทะเล ตลอดจนสัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณชายหาดทอดยาวไปจนถึงแนวปะการัง และยังช่วยชะลอความแรงของคลื่นที่มีผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งได้อีกด้วย ในอดีตชายฝั่งทะเลประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต่อมาใน พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559 แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าในหลายกรณี ยิ่งแก้ ยิ่งกัดเซาะ ยิ่งทำให้ปัญหาขยายวงกว้าง เนื่องจากการแก้ไขส่วนใหญ่เป็นการมุ่งเน้นการรักษาเส้นแนวชายฝั่งโดยการสร้างโครงสร้างแข็ง ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ข้างเคียง และการแก้ไขไม่ได้มีการป้องกันปัญหาที่ตามมาอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะดินตะกอนใต้น้ำ และโครงสร้างที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเกิดการชำรุดและทรุดตัว จึงมีมติของครม.เห็นชอบ "แนวทางการจัดการแผนงานโครงการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง" ขึ้น ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีนโยบาย Green to Gray หรือนโยบายสีเขียว คือ การให้หาดทรายคืนฟื้นตัวด้วยตัวเอง หรือการเข้าไปช่วยปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ไปจนถึงการแก้ปัญหากัดเซาะด้วยโครงสร้างแข็งในบางพื้นที่ที่อาจจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีใดจะต้องพิจารณาการแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม โดยจะต้องมีตัวชี้วัดที่จะใช้ในการติดตามผลสัมฤทธิ์ด้วย หมายความว่าเราได้ลงโครงสร้างไปกี่กิโลเมตรหรือกี่เมตรในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะแล้วระบบนิเวศที่เราได้คืนมาเท่าไหร่จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขที่ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำลังดำเนินการอยู่ โดยยึดหลัก Green to Gray มีด้วยกัน 4 แนวทาง ดังนี้ 1. การปรับสมดุลชายฝั่งทะเลโดยธรรมชาติ คือการคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลของชายฝั่งตามธรรมชาติเพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้มีการปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพด้วยตัวเอง 2. การป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อป้องกันพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะให้มีอัตราการกัดเซาะลดลง 3. การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การดำเนินกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทั้งรูปแบบที่สอดคล้องธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติหรือโครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อแก้ไขต้นเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง 4. การฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะฟื้นคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,151.13 ตารางกิโลเมตร(ไม่รวมชายฝั่งบนเกาะ) แต่พบว่าสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งมีความน่าเป็นห่วง โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 145.73 กิโลเมตร และที่อยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะถึง 558.71 กิโลเมตร ซึ่งบางส่วนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข มีเพียง 1,723.81 กิโลเมตรที่ไม่มีปัญหาการกัดเซาะ ส่วนที่เหลืออีก 722.88 กิโลเมตร เป็นพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่ก่อสร้างรุกล้ำแนวชายฝั่ง หาดหิน หน้าผา และปากแม่น้ำ แต่จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี พศ. 2495 – 2560 แม้สถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยจะลดลง โดยปี พ.ศ. 2495 - 2551 พบว่า มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะสูงถึง 830 กิโลเมตร ปี พ.ศ. 2554 พื้นที่กัดเซาะลดลงเหลือ 696 กิโลเมตร และลดลงเหลือ 145 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2560 แต่กลับมองว่าสิ่งที่กำลังทำกันอยู่นี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นเพียงการประทังหรือชะลอเท่านั้นแต่ปัญหาไม่ได้หมดไป เพราะวิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมามุ่งเน้นที่การรักษาแนวชายฝั่ง แต่ไม่ใช่การรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง ทำให้การแก้ปัญหาออกมาในรูปแบบของการทำโครงสร้าง เพื่อรักษาแนวชายฝั่งไม่ให้ถูกกัดเซาะมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเวลาชายฝั่งถูกกัดเซาะจะทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งหายไป แต่การแก้ปัญหาผ่านมาเรายังไม่ได้ระบบนิเวศหาดทรายกลับคืนมาด้วย ดังนั้น ตัวชี้วัดที่สำคัญของความสำเร็จในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญ คือ การรักษาสถานภาพของระบบนิเวศชายหาดให้คงอยู่ ควบคู่กันไปพร้อม กับการรักษาชายหาด ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า "จะเห็นชัดว่าสิ่งที่น่าห่วงคือ ในหลายๆ ครั้งที่มีความพยายามแก้ไขการกัดเซาะ แต่กลายเป็นตัวสร้างปัญหาให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งตรงนั้นขึ้น จึงตั้งข้อสังเกตว่า เราตั้งโจทย์ถูกหรือเปล่า เรามุ่งที่จะแก้ปัญหการกัดเซาะโดยมุ่งไปที่การรักษาแนวชายฝั่งไม่ให้เกิดการกัดเซาะ หรือจริงๆ เราต้องการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเพื่อให้ระบบนิเวศชายฝั่งของที่นั้นๆ กลับคืนมา ดังนั้นแนวคิดต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องเลือกและหาแนวทางที่เหมาะสม" จากกรณีดังกล่าว จึงนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อสำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ภายใต้"โครงการารจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทย"ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ป้องกันที่สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง : กิจกรรมชายฝั่ง ประกอบด้วย การประกาศเขตถอยร่น ( set back zone) ระงับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่ทำให้สมดุลตะกอนในบริเวณชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลง ปกป้อง ดูแล และรักษาระบบนิเวศที่เป็นแนวกันคลื่น เช่น ปะการัง ป่าชายเลน เป็นต้น 2.แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการปฏิบัติตามแนวทาง Green to Gray การตรวจสอบและซ่อมแซมโครงสร้างแข็งที่ชำรุดหรือทรุดโทรม และสำหรับโครงการแก้ไขปัญหาที่ไม่ต้องผ่าน IEE หรือ EIA หรือ EHIA รวมถึง Environmental check list นั้น จะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบด้วยจากกรมทรัพากรทางทะเลและชายฝั่ง 3. จัดการปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่ง ในกรณีพื้นที่ตกน้ำ กำหนดให้ผู้ที่สูญเสียพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ์ในที่ดินจำเป็นต้องแสดงสิทธิ์เพื่อครอบครองพื้นที่ สร้างมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ที่เดือดร้อน เช่น การจัดการที่อยู่อาศัยใหม่ในมาตรฐานเดียวกับพื้นที่เก่า และในกรณีพื้นที่ที่งอกใหม่ ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใหม่ให้ชัดเจน มีการจัดทำกระบวนการที่มีส่วนร่วมเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ 4. เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประกอบด้วย การบูรณาการ ปรับปรุงและจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ระบุดัชนีชี้วัดและตัวชี้วัดร่วมของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ชัดเจนเพื่อสะท้อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการกำหนดเขตกิจกรรมการใช้ประโยชน์และการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล เป็นต้น
แท็ก ระบบนิเวศ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ