“ตั้ว-ศรันยู” ซูฮกก๊วนสลัดจิ๋วฝีมือไม่ธรรมดา แถมตั้งกฏเหล็กห้ามเรียกลุงใน “สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา”

ข่าวบันเทิง Thursday February 14, 2008 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--สหมงคลฟิล์ม
นอกจาก ตั้ว ศรัณยู วงศ์กระจ่าง จะถูกจับแปลงร่างเป็นโจรสลัดดุดัน ขี้เมา ไม่ถูกกับเด็ก ในหนังผจญภัยแฟนตาซี “สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตาภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล แล้ว ในหนังเรื่องนี้พี่ตั้วพระเอกตลอดกาลมากฝีมือ ยังต้องประชันบทบาทกับเหล่านักแสดงตัวจิ๋วทั้ง 9 คน ไล่มาตั้งแต่ น้องเกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ,น้องลูกแก้ว รักษิตา จีน เคสซีเนอร์ , น้องนนท์ วัชรวิทย์ วิวัฒน์รัตน์ , น้องกัน อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ , น้องริฟฟ์ นิติพงษ์ ประดับสิริพรหม และ น้องยีนส์ คัทรินทร์ สนิทธิเวทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องเล็กสุดอย่างฟลุท รจนกร อยู่หน้า หรือแฝดลูกครึ่งญี่ปุ่นอย่าง น้องอ้วน-โอริ ชไมพร-สิรินทรโนมูร่า ที่รับประกันว่าเสน่ห์ความแซบ ซน ของแต่ละคนไม่เป็นสองรองใคร งานนี้พระเอกรุ่นใหญ่เอ่ยปากไม่หนักใจ แถมยังทำให้การทำงานสนุกยิ่งขึ้นไปอีก จนกลายเป็นขวัญใจของเด็กๆ ไปโดยปริยาย อีกทั้งฝีมือการแสดงของเหล่าตัวจิ๋วก็ไม่ธรรมดากันทั้งนั้น เจ้าตัวถึงกับมั่นใจว่าความน่ารักสดใสและความเป็นธรรมชาติของเด็กๆ จะทำให้หนังแฟนตาซีจินตนาการสุดล้ำเรื่องนี้ถูกใจคอหนังทุกเพศทุกวัยได้แน่ ซึ่งตั้ว-ศรันยู พูดถึงการได้มาทำงานกับเด็กๆ ในเรื่องนี้ว่า
“เราได้มีโอกาสเจอกันก่อนตั้งแต่แคสติ้งแล้ว ก็เลยมีความสนิทคุ้นเคยกันมาก่อนเริ่มถ่ายทำ หลายคนคงคิดว่าการมาทำงานกับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กหลายๆ คนอย่างในหนังเรื่องนี้คงเป็นเรื่องหนักใจ แต่สำหรับเรามองว่าเป็นเรื่องสนุก เพราะส่วนตัวก็เคยทำงานกับเด็กมาก่อนสมัยทำละครเวที การทำงานกับเด็กก็ทำให้มีสีสัน ทำให้การทำงานสนุกมากขึ้น แล้วเด็กๆ ที่แสดงในเรื่องนี้ฝีมือก็ไม่ธรรมดา จุดดีคือเขาไม่ได้เป็นนักแสดงแต่เป็นเด็กอย่างที่เป็น เขาแสดงความเป็นเด็กออกมาจริงๆ ที่ไม่ใช่การเสแสร้งหรือแอ็คติ้งให้เป็นเด็ก ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุผลให้หนังนี้ได้บันทึกเอาความสดใสของเด็กแต่ละคนถูกผลักดันออกมาในหนังเรื่องนี้ได้ตามวัยของเขา”
งานนี้พระเอกรุ่นใหญ่จึงกลายเป็นขวัญใจของเด็กๆ ไปเลย ทั้งคอยเล่าเรื่องสนุกๆ หากิจกรรมให้เด็กๆ ทำ เวลาไปไหนมาไหนในกองจะต้องได้ยินเสียง “พี่ตั้ว...พี่ตั้ว” ตลอด ก็เจ้าตัวเล่นออกกฏไว้เองว่าจะตามใจเด็กๆ ทุกอย่าง แต่มีข้อแม้ว่าต้องเรียก “พี่” เท่านั้น ขืนเรียก “ลุง” มีงอนแน่
“กฏนี้ไม่ใช่พี่เป็นคนตั้งคนแรก คุณปื้ดผู้กำกับเขาก็ทำแบบนี้ เด็กทุกคนก็พากันเรียกพี่หมด เริ่มต้นรู้สึกเด็กตัวเล็กๆ ที่สุดซึ่งก็คือน้องฟลุท แล้วทั้งหมดก็เลยหันมองว่าทำไมเรียกพี่ เราก็เลยยิ้ม เออดี เขาก็เรียกมาตลอดเพราะเรียกง่าย ก็ยังพอได้นะเรียกลุงคงดูไม่ไหว สุดท้ายถึงเรียกพี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเด็กๆ ทำถูกแล้ว (หัวเราะ)”
ต้องคอยติดตามกันแล้วว่าเมื่อพระเอกรุ่นใหญ่อย่าง “ตั้ว-ศรันยู” ต้องมาปะทะกับเหล่าบรรดาตัวจิ๋วทั้ง 9 ในเรื่อง จะสนุกสุดเหวี่ยงแค่ไหน ติดตามภาพยนตร์ผจญภัยแฟนตาซีสุดล้ำ “สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา” ได้ทุกโรงภาพยนตร์ 6 มีนาคมนี้แน่นอน
Q.โดยส่วนตัวพี่ตั้วปลื้มการทำงานของเด็กคนไหนเป็นพิเศษไหม
A.(หัวเราะ) เด็กๆ แต่ละคนก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป มันก็ตรงตามคาแรคเตอร์ อย่างที่เขาเลือกอยู่แล้ว เขาก็พยายามเลือกเด็กที่มีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไปตามนั้น อย่างคู่แฝดก็น่ารักเหลือเกิน เหลือเกิ้น เหลือเกิน เวลาที่ต้องการเสียงหัวเราะจากเขามันก็ได้ ไอ้ตัวเล็กน้องฟลุทก็เก่ง เก๊ง เก่ง น้องบางคนเขาก็จะแก่แด๊ด แก่แดด ก็ว่ากันไปตามตรง ตามคาแรคเตอร์ของบท เพราะว่าเขาสามารถเป็นไปตามนั้นได้ น้องผู้ชายเขาก็จะทำตัวเป็นพระเอ๊ก พระเอก มันก็ครบถ้วนเขา แล้วก็มีน้องเกรซที่จะเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะบงการว่าเด็กๆ ควรจะเรียกร้องอย่างไร เราถ่ายหนักเกินไปแล้ว เราควรจะพักอะไรแบบนี้ เรามองไปเราก็เห็นสังคมย่อยๆ หนึ่ง มันก็ดี มันก็คงเป็นไปตามความต้องการของผู้กำกับที่ต้องการแบบหลากหลายอยู่แล้ว จริงๆ จะไปคอมเม้นท์อะไรตรงนั้นมันก็ยากเพราะว่ามันเป็นกลุ่มก้อนของเด็ก คือถ้าเรื่องนี้มีเด็กอยู่เดียวอาจจะพูดได้ชัดว่าคนนี้ทำงานเป็นอย่างไร แต่ว่าตรงนี้มันกลายเป็นกลุ่มเขาผลัดกันเป็นหัวเรือใหญ่ ผลัดกันมีเรื่องราวของเขาไป เราก็จะมองเขาเป็นภาพรวมมากกว่า
Q.ทราบมาว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พี่ตั้ว ศรัณยูทำงานร่วมกับเด็กๆ
A.จริงๆ ก็ไม่ใช่ครั้งแรกนะ เมื่อย้อนการทำงานของตัวเองกลับไปตั้งแต่สมัยที่ทำละครเวทีมา พูดได้ว่าก็จะผูกพันกับเรื่องของเด็กๆเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนตัวแล้ว ชอบนะ ชอบที่จะทำงานกับเด็ก ทำงานให้เด็ก ชอบ ที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องความฝันของเด็กๆ อยู่แล้ว มันก็เลยยิ่งทำให้เราสนุกเมื่อรู้ว่าได้ทำเรื่องเหล่านี้ ต้องบอกว่าการทำงานกับเด็กๆ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไรอย่างที่หลายคนกังวลว่าอะไรก็ตามที่มี สัตว์เด็ก เอฟเฟ็คต์ สลิง แล้วจะเป็นปัญหา เพราะเอาเข้าจริงๆ ยิ่งเป็นการทำงานในลักษณะของสเกลที่เป็นภาพยนตร์ไทย การถ่ายทำหรือการเตรียมงาน ทางทีมงานสร้างเขาก็พยายามที่จะหาทางหนีทีไล่หรือ เอื้อต่อกระบวนการทำงานที่สุดอยู่แล้ว คือพอเราเล่นกับเด็กแล้วมันไม่ใช่ว่าจะต้องล้อมรอบกับเด็กยี่สิบสี่ชั่วโมงตลอดเวลามันก็ไม่ใช่ มันมีกาจัดการว่าเด็กถ่ายตรงนี้ ผู้ใหญ่ก็พัก พอผู้ใหญ่ถ่ายเด็กก็พัก ซึ่งช่วงเวลาที่ทำงานกับเด็กจริงๆ หน้ากล้องไม่ค่อยมากเท่าไหร่ มันเป็นไปตามจังหวะของบทไปสนุกกับการยกกองไปต่างจังหวัดกับการที่เราเดินทางกว่าจะไปถึงเรือที่เราถ่ายทำได้ ตรงนั้นต่างหากที่เรามีชีวิตร่วมกับเด็กๆ สนุกบ้าง รำคาญบ้างก็ว่ากันไป
Q.หนุกหนาน หนิดหนม กันแค่ไหนไม่รู้ แต่งานนี้พี่ตั้วไม่ให้เด็กๆแต่ละคนเรียกลุงเด็ดขาด
A.อันนี้ไม่ใช่พี่เป็นคนแรก แต่ทุกคนพากันพูดแบบนี้หมด เริ่มต้นรู้สึกเด็กตัวเล็กๆ ที่สุดเรียกพี่แล้วทั้งหมดก็เลยหันมองว่าทำไมเรียกพี่ พี่ก็เลยยิ้ม เออดี เขาก็เรียกมาตลอดเพราะเรียกง่ายยังพอได้เรียกลุงมันดูไม่ไหว สุดท้ายถึงเรียกพี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเด็กๆ ทำถูกแล้ว
Q.พูดถึงเรื่องสัตว์เด็กเอฟเฟ็คต์สลิง พี่ตั้วเองต้องรับมือกับการแสดงที่มีงานซีจีและนักแสดงเด็ก เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวรู้สึกหนักใจกับอย่างไหนมากกว่ากัน
A.จริงๆ มันเป็นความหนักใจด้วยกันทั้งคู่ (หัวเราะ) แต่มันเป็นความหนักใจที่เราสนุกกับมัน ถ้ามองในแง่การทำงานเราว่ามันยุ่งแน่ๆ ต้องเจอกับเด็กเยอะ ถ้าเป็นซีจีก็ต้องลำบากมากแน่ที่ต้องเล่นกับสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่ว่าสิ่งที่มันเป็นปัญหา กลับกันมันก็น่าสนุกเหมือนกันนะที่เราจะได้ทำ สนุกตั้งแต่ฟังชื่อเรื่องสลัดตาเดียวกับเด็กสองร้อยตาแล้วพอรู้เรื่องจากพี่ปื๊ดว่าเป็นประมาณนี้ ก่อนที่จะนึกถึงความลำบาก เราก็จะนึกถึงความสนุกตรงนี้เป็นสิ่งที่ดึงให้เรารู้สึกสนใจที่จะลอง น่าเล่นมากกว่าที่จะไปนึกถึงความยุ่งยากในการทำงาน เพราะพูดได้ว่าเราไม่ค่อยได้ทำงาน หรือได้ดูอะไรที่มันเป็นความบันเทิงที่เป็นแฟนตาซีสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะแฟนตาซีที่มีเรื่องของเด็กเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องของสลัดตัวโตๆที่มีเรื่องของจินตนาการ และความเยาว์วัยที่อัดแน่นอยู่ในจิตใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ