มท. สั่งการ ปภ. บูรณาการจังหวัดเข้มมาตรการเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “วิภา”และมรสุมตะวันออกเฉียงใต้กำลังแรง

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2019 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยสั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดเสี่ยงได้รับผลกระทบฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "วิภา" และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ในช่วงวันที่ 3 – 6 ส.ค. 62 เน้นย้ำมาตรการ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัย การแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็วและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมประเมินสถานการณ์และจัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยรองรับการอพยพประชาชนกรณีสถานการณ์ภัยมีแนวโน้มรุนแรง พร้อมกำชับดูแลด้านการดำรงชีพครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยน้อยที่สุด นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีพายุโซนร้อน "วิภา" จะเคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองฮานอยในวันนี้ (3 ส.ค. 62) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น และหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 3 – 6 สิงหาคม 2562 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม รวมถึงทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง จึงได้เน้นย้ำให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง มุ่งเน้นการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็วและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ควบคู่กับการแจ้งเตือนภัย/ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์ภัย แนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยผ่านช่องทางสื่อสารทุกรูปแบบ รวมถึงให้จัดเตรียมสรรพกำลังวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสาในพื้นที่จัดเตรียมจุดปลอดภัยรองรับการอพยพประชาชน กรณีสถานการณ์ภัยมีแนวโน้มรุนแรง ทั้งนี้ ให้เตรียมพร้อมดูแลด้านการดำรงชีพของประชาชนอย่างครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะการจัดหาอาหาร และน้ำดื่มสะอาด การดูแลสุขภาพอนามัยและรักษาพยาบาล ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือออกจากหรือเข้าฝั่งในช่วงที่มีคลื่นลมแรง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ