ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ใน 3 จังหวัด พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 6, 2019 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2562 จากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ 13 จังหวัด รวม 53 อำเภอ 161 ตำบล 670 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3,100 หลัง ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 1 คน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย และตาก ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2562 จากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ใน 13 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ชุมพร เชียงใหม่ กำแพงเพชร เลย พะเยา เชียงราย ตาก สุราษฎร์ธานี ระนอง น่าน และแม่ฮ่องสอน รวม 53 อำเภอ 161 ตำบล 670 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3,100 หลัง ผู้เสียชีวิต 1 ราย (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ผู้บาดเจ็บ 1 คน สะพานเสียหาย 8 แห่ง ถนน 15 สาย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์ 3 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูกามยาว อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอปง อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอภูซาง รวม 25 ตำบล 146 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 313 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 698 ไร่ สะพาน 3 แห่ง ถนน 14 สาย เชียงราย เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5 หลัง ตาก เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 20 หลัง ซึ่งสถานการณ์ในภาพรวมของทุกจังหวัด ระดับน้ำลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยอำนวยความสะดวกในการสัญจร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อให้ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ