ก.เกษตรฯ (ติดตามแก้น้ำแล้งจ.สุพรรณ)

ข่าวทั่วไป Wednesday August 14, 2019 08:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รมช.เกษตรฯ ติดตามการแก้ปัญหาน้ำแล้ง นำตัวแทนชาวนาสุพรรณฯ ลุยดูการผันน้ำประตูระบายน้ำชัยนาท มั่นใจอีก 2 วันริมคลองยาวกว่า 400 กม. มีน้ำใช้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 62 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี พร้อมด้วย นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ผู้นำท้องถิ่น และตัวแทนเกษตรกร จ.สุพรรณบุรี โดยตรวจดูปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร จ.สุพรรณบุรี ว่าภายใน 2 วัน ปริมาณน้ำจะถึงปลายคลองอย่างแน่นอน โดยเกษตรกรจะมีน้ำสูบใส่นาข้าวที่กำลังขาดน้ำแห้งตายจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เดิมบางบางบวช อ.สามชุก อ.ดอนเจดีย์ และ อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี ที่ใช้น้ำในคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก ข้าวกำลังขาดน้ำยืนต้นตาย เนื่องจากน้ำในคลองมีปริมาณน้อยจากปัญหาภัยแล้งประกอบกับช่วงนี้ฝนทิ้งช่วง เกษตรกรกว่า 50,000 ครัวเรือน กำลังได้รับความเดือดร้อน พื้นที่กว่า 250,000 ไร่ นายประภัตร เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ได้รับความเดือนร้อน ชาวนาแย่งกันสูบน้ำเข้านาข้าวนั้น ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งกรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากประตูน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 ท่อ ท่อขนาด 18 นิ้ว จำนวน 2 ท่อ และท่อขนาด 12 นิ้ว จำนวน 7 ท่อ และประตูไฟฟ้าระบายน้ำอีก 3 ประตู เพื่อเร่งส่งน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) โดยขณะนี้สามารถส่งน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ได้ปริมาณ 12 ลบ.ม./วินาที และกำลังเร่งสูบน้ำให้ได้ 15-18 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำจะถึงช่วงปลายคลอง ภายใน 2 วันนี้ ทั้งนี้ขอความร่วมมือชาวนาให้หยุดลักลอบแย่งกันสูบน้ำเข้านา โดยขอให้รอปริมาณน้ำในคลองมีปริมาณมากพอก่อน แล้วจึงสามารถสูบน้ำเข้านาพร้อมๆ กันในวันอังคารที่ 13 ส.ค. นี้ โดยไม่ต้องจัดคิวรอบเวรให้สูบกันเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแย่งกันสูบน้ำและป้องกันปัญหาความขัดแย้งของชาวนาอีกด้วย "จากการพูดคุย ชาวนาส่วนใหญ่เข้าใจการทำงานของทุกฝ่ายที่หาทางช่วยเหลืออยู่ จึงยอมตกลงหยุดสูบน้ำก่อน และรอให้ปริมาณน้ำมามากพอที่จะสามารถสูบเข้านาได้พร้อมๆ กันทีเดียว ขณะเดียวกันต้องขอร้องชาวนาบางราย ที่ไม่ให้ความร่วมมือตามข้องตกลงได้แอบลักลอบสูบน้ำเข้านาทั้งที่ชาวนาส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือตามกติกาหยุดสูบน้ำเข้านาช่วงนี้ ส่วนนาข้าวที่ได้รับปัญหาจากภัยแล้งเสียหายแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเก็บข้อมูล เตรียมเสนอรายละเอียดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีประกาศภัยแล้ง เพื่อเตรียมหาทางเยียวยาช่วยเหลือต่อไป" นายประภัตร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ