เนสท์เล่ ร่วมกับกุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เปิดโลกจิตวิทยาการเลี้ยงเด็ก จุดประกายพ่อแม่เลี้ยงลูกเชิงบวก เสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว

ข่าวทั่วไป Thursday August 15, 2019 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ "เด็กทุกคนเกิดมาเป็นเจ้าชายเจ้าหญิง จนกระทั่งเราเปลี่ยนเขาไปเป็นกบ ด้วยการเลี้ยงดูเชิงลบ ด้วยคำสั่ง ด้วยการบังคับต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดให้ลูกต้องเชื่อฟัง เพียงเพราะรักและหวังดีกับลูก จึงไม่เปิดโอกาสให้เขาได้คิดและตัดสินใจเอง เจ้าหญิงเจ้าชายน้อยๆ จึงกลายร่างไปเป็นกบ แล้วเด็กจะเติบโตไปเป็นคนที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยในสังคมได้อย่างไร" หนึ่งในข้อคิดสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ในการเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตอย่างมีความสุข โดย พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเฟซบุ๊กเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ภายในงาน "1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 3" ซึ่งจัดโดย โครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี (Nestle for Healthier Kids) โดย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงดูเด็กด้วยแนวทางที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ด้านพัฒนาการสมองของมนุษย์ พร้อมจุดประกายให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กร่วมกันเป็นต้นแบบเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมเชิงบวกให้กับเด็กอายุ 3-12 ปี เพื่อเป็นรากฐานไปสู่การเติบโตที่เข้มแข็งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัวอย่างยั่งยืน "การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าพ่อแม่เข้าใจพัฒนาการและกระบวนการทำงานทางสมอง เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถคิด วิเคราะห์ ตีความคำพูดหรือคำสั่งที่ซับซ้อนจากผู้ใหญ่ได้ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรสื่อสารความต้องการออกไปตรงๆ หลีกเลี่ยงการใช้คำสั่ง เช่น 'ห้าม' 'ไม่' หรือ 'อย่า' ซึ่งให้ความหมายตรงข้ามกับความต้องการที่แท้จริงของเราและยังยากเกินที่เด็กจะทำความเข้าใจได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าบอกว่า 'ห้ามนึกถึงช้างสีชมพู' เชื่อว่าภาพช้างสีชมพูจะผุดขึ้นมาในหัวทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สมองของเด็กจะประมวลคำสั่งในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น เมื่อเราสั่งลูกว่า 'อย่ากระโดดบนโซฟา' เด็กส่วนใหญ่จึงไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว พ่อแม่จึงควรเลือกใช้คำพูด เช่น 'ลงมานั่งบนโซฟาดีกว่าลูก' หรือตั้งคำถามให้เด็กได้ฝึกคิดเอง เช่น 'โซฟาไว้ใช้ทำอะไรนะลูก?' แทน จึงสื่อสารกับลูกได้ผลกว่า" พญ.จิราภรณ์ กล่าว สมองส่วนเอาตัวรอดซึ่งพัฒนามากที่สุดในช่วงวัยเด็ก เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญต่อรากฐานพฤติกรรมเด็กในอนาคต พญ.จิราภรณ์ อธิบายว่า เมื่อพ่อแม่ดุ กดดัน หรือตีลูก เด็กจะแสดงปฏิกิริยาป้องกันตัวเอง 3 แบบ ได้แก่ สู้ หนี หรือ ยอมแพ้ ซึ่งทั้งสามปฏิกิริยาล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างนิสัยที่ไม่เหมาะสมในระยะยาว เช่น ถ้าสู้บ่อยๆ ก็ทำให้เด็กมีความก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง ถ้าสมองส่วนเอาตัวรอดต้องพยายามหาทางเพื่อหนีไม่ให้ถูกลงโทษบ่อยๆ จะทำให้เด็กโตขึ้นมามีนิสัยปฏิเสธที่จะทำอะไรที่ลำบาก โกหก ปกปิดความผิด ส่วนเด็กที่สมองส่วนเอาตัวรอดต้องยอมแพ้บ่อยๆ จะเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ขาดความมั่นใจ นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ เป็นต้น "การสื่อสารเชิงบวก จึงเป็นการพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ตั้งเป้าหมายให้ลูก 'รับฟัง' ไม่ใช่ 'เชื่อฟัง' เพราะการที่ลูกกล้าที่จะขัดแย้งกับเรา และเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็นของเขาเอง จะเป็นการปลูกฝังให้ลูก 'คิดเป็น' แล้วลูกจะเติบโตไปเป็นคนที่สามารถอยู่รอดในสังคมได้ ขณะเดียวกัน พ่อแม่ควรเป็นต้นแบบในการปลูกฝังให้ลูกมี "Growth Mindset" ที่มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทายและเชื่อว่าทุกคนสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้จากความพยายามและตั้งใจ ส่วนความผิดพลาดถือเป็นบทเรียนเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อไป ซึ่งจะต่างจากแนวคิดแบบ Fixed Mindset ที่เอาความสำเร็จผูกติดกับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและเชื่อว่าความล้มเหลวคือความผิดพลาด เพราะทัศนคติเช่นนี้จะสร้างความกดดันและความเครียดให้กับเด็ก" ด้านอาจารย์รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ อีกหนึ่งวิทยากรภายในงาน แนะเคล็ดลับในการการเลี้ยงลูกให้มีความสุขว่า "ด้วยธรรมชาติของเด็ก เมื่อถูกขัดใจจะเกิดความทุกข์ขึ้นทันที ดังนั้น วิธีการหนึ่งในการเลี้ยงลูกให้มีความสุข คือให้ตามใจอย่างมีกฎเกณฑ์ กล่าวคือต้องฝึกให้ลูกคุ้นชินกับรูปแบบกิจวัตรประจำวัน 3 ขั้นตอน (ส่วนรวม-ส่วนตัว-ความสุข) นั่นคือให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบน้อยที่สุด ลำบากที่สุด หรือเป็นเรื่องส่วนรวมก่อน แล้วจึงตามด้วยสิ่งที่ชอบภายหลัง จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะมีน้ำใจ รู้จักการรอคอย และเห็นคุณค่าของความสุข เช่น ถ้าเราปล่อยให้ลูกเล่นมือถือซึ่งเป็นความสุขของเด็กก่อน การจะหาวิธีเบี่ยงเบนให้เด็กเงยหน้าจากจอมือถือแล้วไปทำการบ้านหรือช่วยทำงานบ้านนั้นจะกลายเป็นเรื่องยาก และยังส่งผลให้เด็กแสดงอาการโกรธหรือไม่พอใจออกมาเมื่อถูกขัดใจระหว่างทำในสิ่งที่ชอบอยู่ แต่การฝึกให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ยากหรือลำบากก่อน เช่น ช่วยรดน้ำต้นไม้ หรือทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วจึงให้เล่น นอกจากจะเป็นการฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็กแล้ว ยังจะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข และที่สำคัญ พ่อแม่ต้องไม่ลืมที่จะพูดหรือแสดงพฤติกรรมเชิงบวกให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างบ่อยๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และทำตามนิสัยที่ดีโดยตรงจากพ่อแม่ เพราะสำหรับเด็กวัยนี้แล้ว พ่อแม่คือต้นแบบที่สำคัญที่สุดของลูกเสมอ" นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวสรุปว่า "การเลี้ยงลูกเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ไม่มีวิธีการที่ตายตัว ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครู ได้เรียนรู้จิตวิทยาเด็กและสามารถนำแนวทางการสื่อสารเชิงบวกไปปรับใช้กับการเลี้ยงดูบุตรหลานและนักเรียนได้อย่างเหมาะสม จะเป็นการสร้างรากฐานให้เด็กได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต กิจกรรม "1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 3" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่โครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดีตั้งใจจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมแนวทางการเลี้ยงลูกเชิงบวกและบ่มเพาะพฤติกรรมด้านโภชนาการที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ โดยหวังว่าพ่อแม่และคุณครูที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะได้รับประโยชน์และนำเทคนิคเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงดูเด็ก และร่วมกันส่งต่อความรู้ดีๆ ไปยังกลุ่มพ่อแม่และคุณครูท่านอื่นๆ ต่อไป" ติดตามข่าวสาร กิจกรรม และเทคนิคดีๆ ในการเลี้ยงลูกเชิงบวกเพื่อให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขจากโครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี ได้ที่ https://www.facebook.com/N4HKThailand/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ