SACICT ขานรับยุคดิจิตอล เปิดตัว SACICT Archive ต่อยอดงานหัตถศิลป์ อยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว

ข่าวทั่วไป Monday August 19, 2019 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เดินหน้าเปิดตัว SACICT Archive ระบบสืบค้นข้อมูลงานหัตถศิลป์ ครั้งแรกในไทย เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกสู่งานหัตถศิลป์ ค้นหาง่าย ได้ข้อมูลลึกซึ้งแค่ปลายนิ้ว พร้อมผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางธุรกิจหัตถศิลป์ระดับอาเซียน สร้างทัศนคติใหม่ "หัตถศิลป์ไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของคนแก่" เมื่อเร็วๆ นี้ นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ นำทีมจัดงานแถลงข่าว SACICT Arts & Crafts Knowledge Centre ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์หัตถกรรมในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเปิดตัวระบบสืบค้นข้อมูลงานหัตถศิลป์ "SACICT Archive" ศูนย์รวมองค์ความรู้เชิงลึกด้านงานหัตถศิลป์ที่ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ฟรี เป็นครั้งแรก ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางอัมพวันฯ เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการสร้าง SACICT Archive ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงงานหัตถศิลป์ได้อย่างง่ายดายครั้งนี้ว่า "ทุกปีจะมีการคัดเลือกครู มีการจัดทำหนังสือประวัติครูอยู่แล้ว เพื่อให้คนได้รู้จักครูผู้สร้างสรรค์ผลงานงานหัตถศิลป์มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อคนที่อยู่ในวงการนี้ แต่ตัวหนังสือที่เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์นั้นมีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งมีการตีพิมพ์ไม่มากนัก ทาง SACICT เล็งเห็นความสำคัญ อยากรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ไม่ให้สูญหาย และเพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิตอลในปัจจุบัน จึงจัดทำเป็น E-BOOK รวบรวมมาไว้ใน SACICT Archive เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาสืบค้นข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ได้อย่างง่ายดาย และยังได้ข้อมูลเชิงลึก เชิงกว้างจากรากเหง้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นอันน่าเชื่อถืออย่างแท้จริงอีกด้วย โดยเบื้องต้น SACICT มีแผนพัฒนาตัวระบบสืบค้นข้อมูลนี้เป็น 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ไทย จีน เพื่อรองรับผู้สนใจจากทั่วโลก และก้าวสู่ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์ระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง" ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคไม่ใช่เรื่องง่าย ผอ.อัมพวัน เผยถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญ "การทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ เราต้องการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกับเรา เพราะจะเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นรูปธรรม การแลกเปลี่ยนระหว่างครูกับครูมันจะเสมอกัน แต่ว่าหายากมาก การร่วมงานกับประเทศอื่นจึงเป็นลักษณะกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงวัฒนธรรม ท้าทายมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานที่เป็นไมโครบิสิเนส ไม่สามารถขยายได้ บอกให้ SACICT ขายออนไลน์ได้มั้ย ทำไมไม่เอาทัวร์มาลง ของก็ไม่พอขายอีก เพราะของแต่ละชิ้นมีอัตลักษณ์ มีความยูนีค ชิ้นเดียวเท่านั้น สีเดียวเท่านั้น การขายออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย อยากได้เหมือนกัน 2 ชิ้น ก็เป็นไปไม่ได้ งานหัตถกรรมแต่ละชิ้นที่ SACICT ทำ จึงเหมือน Art Piece ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น คุณได้หลายๆ อย่างที่อยู่ในตัวเนื้อของชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นความวิริยะอุตสาหของคนทำ ภูมิปัญญาของผู้ผลิตที่สะสมมา 10 – 20 ปี คุณค่าที่สัมผัสได้มันแตกต่างกันอย่างมาก จะเห็นว่างานศิลปหัตถกรรมมีราคาค่อนข้างสูง แต่พอเห็นกระบวนการผลิตจะสามารถรับรู้ได้ถึงคุณค่า ความรักความใส่ใจของผู้สร้างสรรค์ชิ้นงาน และความคุ้มค่าเมื่อได้มาครอบครอง แต่สิ่งที่ SACICT สามารถเข้ามาช่วยเสริมให้ครูได้ ก็คือเรื่องการสร้างตลาดวัตถุดิบงานหัตถรรมและเครื่องมือต่างๆ ที่ไทยยังขาดอยู่ ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยลดต้นทุนและเวลาได้เยอะ และการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยก็ไม่ได้ทำให้สูญเสียคุณค่าความเป็นงานหัตกรรมแต่อย่างใด เพราะหัวใจของงานหัตถกรรมคืองานฝีมือ ไม่ใช่การสร้างวัตถุดิบ" SACICT เชื่อมโยงคุณค่างานหัตถศิลป์ในชีวิตประจำวัน เข้ากับคนรุ่นใหม่ยุคดิจิตอล สร้างทัศนคติใหม่ งานหัตถศิลป์หัตถกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องของคนแก่อีกต่อไป "จะเห็นว่าในยุคนี้ ครูเล่นโซเชียล พวกเขาใช้ประโยชน์จากตรงนี้อยู่แล้ว มีการเชื่อมโยงสู่โลกดิจิตอล สู่คนทั่วไป แต่บทบาทของ SACICT ที่เข้ามามีส่วนร่วมก็คือ ทำให้ใช้งานโซเชียลอย่างมีระบบมากขึ้น อย่างเช่นการผลักดันในเรื่อง Craft Social Network เชื่อมโยงผู้ผลิตทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ เข้ากับกลุ่มลูกค้าที่มีทั่วโลก การทำ SACICT Craft Trend เผยทิศทางงานหัตถกรรมให้สมาชิกรับรู้ เตรียมพร้อม ทำงานให้สอดคล้องกัน จูนผู้ผลิตและผู้ซื้อให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยการให้องค์ความรู้ เปลี่ยนสินค้า OTOP ยุคเก่าที่บางชิ้นซื้อแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร สู่ OTOP PRIMIUM ทุกชิ้นงานมีฟังก์ชั่นการใช้งาน มีประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง ทำให้สังคมเห็นว่างานหัตถกรรมสามารถพัฒนาได้ และที่เห็นเด่นชัดอีกอย่างคือเรามีลูกค้าที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น จากการเปลี่ยนแนวคิดการทำงานแบบเดิมๆ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์สังคมและตลาดคนรุ่นใหม่ งานหัตถศิลป์ในยุคนี้จึงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตได้อย่างแท้จริง สิ่งที่ SACICT ยึดถือมาตลอดคือ หัตถศิลป์ต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราใช้มัน สิ่งเหล่านั้นจะเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปกับเราด้วยค่ะ" นางอัมพวัน กล่าวทิ้งท้าย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งาน SACICT Archive ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ archive.sacict.co.th หรือเข้าใช้บริการ SACICT Arts & Crafts Knowledge Centre ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. (ไม่เสียค่าเข้าชม) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.1289

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ