เปิดงานประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) มุ่งเน้น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 20, 2019 13:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2562 "BDMS Academic Annual Meeting 2019" ทรงเน้นย้ำถึง ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างสูง แต่การจะนำมาใช้ควรจะต้องมีการวิเคราะห์และศึกษาให้รอบด้าน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง ตลอดจนนวัตกรรมอื่นที่คิดว่าจะนำมาใช้ ทั้งควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วยว่า แบบใดจึงจะเหมาะกับวงการแพทย์ของไทย ที่จะช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการรักษาโรค และการดูแลสุขภาพของคนไทยทั่วไป ผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ให้ดียิ่งๆ ขึ้น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ผนึกกำลังโรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลรอยัล และบริษัทในกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล จัดการประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ประจำปีพุทธศักราช 2562 ภายใต้แนวคิด เสริมศักยภาพความเชี่ยวชาญ ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวทันโลก แห่งยุคปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) "The Trusted Healthcare Network: The Era of Artificial Intelligence and Advanced Technology" โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาจากรพ.ชั้นนำจากต่างประเทศ มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด และบุคคลากรทางการแพทย์กว่า 1,500 คนที่เข้าร่วมงาน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ก่อตั้ง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม รพ. กรุงเทพ พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร ร่วมถวายการต้อนรับ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเปิดงาน มีใจความตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาเปิดการประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปีพุทธศักราช 2562 ว่าด้วยเรื่องปัญญาประดิษฐ์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาการและเทคโนโลยีที่เจริญพัฒนาอย่างสูงในยุคปัจจุบัน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่เหนือความคาดหมายของมนุษย์ กลายเป็นเรื่องที่มนุษย์สามารถทำได้จริง นวัตกรรม Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็เป็นผลผลิตของความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาการและเทคโนโลยี ในปัจจุบันมีหลายประเทศนำปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้งานหลายด้าน รวมทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข ในประเทศไทยก็มีความสนใจและกล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์กันกว้างขวางมากขึ้น และคาดหมายกันว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างสูง แต่การจะนำมาใช้ควรจะต้องมีการวิเคราะห์และศึกษาให้รอบด้าน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง ตลอดจนนวัตกรรมอื่นที่คิดว่าจะนำมาใช้ ทั้งควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วยว่า แบบใดจึงจะเหมาะกับวงการแพทย์ของไทย ที่จะช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการรักษาโรค และการดูแลสุขภาพของคนไทยทั่วไป ผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ให้ดียิ่งๆ ขึ้น" แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มรพ.กรุงเทพ ในฐานะประธานการจัดงาน กล่าวว่า งานประชุมวิชาการในปีนี้ ได้จัดงานภายใต้แนวคิดหลักว่า เสริมศักยภาพความเชี่ยวชาญ ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวทันโลก แห่งยุคปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยได้รับเกียรติจากสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับสากล อาทิ The Commission on Accreditation of Medical Transport Systems (CAMTS), USA., The Oregon Health Sciences University (OHSU) and Portland State University (PSU) School of Public Health, USA. พร้อมแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีด้านการรักษา เทคโนโลยีทางการแพทย์ และแนวทางการดูแลผู้ป่วย อาทิ หุ่นยนต์เอกซเรย์แขนกล ช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงกับกระดูกที่หัก ให้ได้รับความเสียหายจากการผ่าตัดน้อยที่สุด (ARTIS Pheno) และหุ่นยนต์บริการขนส่งสำหรับโรงพยาบาล DELIVERY ROBOT ฮาปปี้บอท (HAPYBOT) ที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ พร้อมหลบเลี่ยงอุปสรรค และสามารถเรียกลิฟท์โดยสารได้ด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับโรงพยาบาล Smart BDMS Medication cart รถเข็นให้บริการยาและช่วยอำนวยความสะดวก ลดความผิดพลาดในการจัดเก็บและการจัดจ่ายยาของกับพยาบาล และ Premium BDMS Transfer Wheelchair รถเข็นบริการผู้ป่วยที่มีความทันสมัยถูกหลักกายศาสตร์ การจัดงานประชุมวิชาการในปีนี้ มีหัวข้อการบรรยาย การสัมมนา และการฝึกปฏิบัติการ ครอบคลุมสาขาวิชาการต่าง ๆ ทางการแพทย์ ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล กายภาพบำบัด งานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาขาอื่น ๆ จำนวนมากกว่า 80 หัวข้อ มีผู้บรรยายมากกว่า 150 ท่าน โดยเป็นผู้บรรยายชาวต่างประเทศ รวม 17 ท่าน และในการประชุมยังเป็นโอกาสที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อนำความรู้ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาและนำมาใช้อย่างเหมาะสม โดยหัวข้อการบรรยายในปีนี้ เน้นด้านวิทยาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาปรับใช้ในวงการแพทย์ อาทิ การอัพเดทเทรนด์การบริหารจัดการโรงพยาบาลก้าวทันโลก (Global Mega Trends in Hospital management) โดย Mr. Phillip Evans ประเทศสหรัฐอเมริกา การรักษาผู้ป่วยสู่ระบบการดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน (Moving Forward from Patient Safety Journey to Trusted Healthcare : President Award 2018) โดย รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล เครื่องจัดจ่ายยาอัตโนมัติ (Pharmacy Automation and Innovation : New Technology and Dispenser) โดย Mr. David Lampert และดร.ภก.ชัยวัฒน์ คณิตวรานันท์ การดูแลสุขภาพในยุคดิจิตอลกับโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Internet of Health Things : Moving Towards a Smart Hospital) โดย Mr. Ian Chong มาตรฐานการดูแลการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในระดับสากล (Medical Transportation Standards Within Trusted Healthcare Providers and Expansion Into Asia) โดย Ms.Eileen Frazer ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ