ประเมินผลกระทบสงครามการค้าตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจีนสหรัฐฯรอบสี่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 26, 2019 09:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต ส่งออกเป็นบวกเล็กน้อยพร้อมการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มในเดือน ก.ค. ส่งสัญญาณเศรษฐกิจกระเตื้องปลายปีแต่ถูกหักล้างโดยการสงครามตั้งกำแพงภาษีระหว่างจีนกับสหรัฐฯล่าสุดหวั่นส่งออกทั้งปีติดลบกว่า 3% สงครามการค้าสินค้าเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐสหรัฐฯกับอียู และ อียูกับจีนสร้างปัญหาท้าทายต่อโครงสร้างตลาดและการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ของโลก เพราะการแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วทางการค้าทำให้ระบบการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตสินค้าเทคโนโลยีมีต้นทุนสูงขึ้น การพึ่งพากันในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบ เสนอให้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนแบบไม่ใช้งบประมาณ ใช้การผ่อนคลายกฎระเบียบ การขยายตัวของการลงทุนจะช่วยรักษาระดับการจ้างงานและรายได้ของประชาชนเพื่อรับมือความท้าทายจากการทรุดตัวของการค้าโลกและการส่งออกของไทย อย่าคาดหวังมากเกินไปว่า ผลกระทบจากสงครามทางการค้าจะนำมาสู่การย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกเปลี่ยนไปจากเดิม การย้ายฐานการผลิตจะไม่ใช่เรื่องของค่าแรงราคาถูกแต่จะย้ายฐานไปยังประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและมีแรงงานทักษะสูง ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคมส่งสัญญาณเศรษฐกิจอาจกระเตื้องขึ้นบ้างช่วงปลายปี โดยอัตราการขยายตัวการส่งออกเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.55% ส่งออกเป็นบวกเล็กน้อยพร้อมการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรเพิ่มในเดือน ก.ค. ส่งสัญญาณเศรษฐกิจอาจกระเตื้องปลายปี ตัวเลขนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 1.7% โดยมีการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น 11.9% เฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 23.9% สะท้อนการลงทุนปลายปีน่าจะกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯของจีนมูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้มีผลทันทีในวันที่ 1 กันยายนนี้ โดยเก็บภาษี 5%-10% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯรวม 5,078 รายการ การขึ้นภาษีนำเข้าของจีนล่าสุดได้ถูกตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่โดยสหรัฐฯทันทีในวันศุกร์ที่ผ่านมาโดยสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 30% จากก่อนหน้านี้ที่เก็บ 25% และยังจะเก็บภาษีบางรายการจากเดิม 10% เป็น 15% ให้มีผลในวันที่ 1 ก.ย. เช่นเดียวกัน การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันรอบใหม่นี้จะทำให้ระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้นและแรงขึ้น อาจทำให้ภาคส่งออกไทยทั้งปีติดลบมากกว่า 3% และหักล้างสัญญาณอ่อนๆการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการลงทุนที่อาจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี ความรุนแรง ยืดเยื้อและการขยายวงของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะทำให้รายได้การท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอีกด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงกว่าเป้าหมายประมาณ 2-3 แสนคน อุตสาหกรรมภายในจะได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของจีนมากขึ้น สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อห่วงโซ่อุปทานไทยที่ส่งสินค้าขั้นกลางไปจีน นักลงทุนจีนชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ กล่าวอีกว่า การตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ถือเป็นสงครามการค้ารอบที่สี่ จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างมากกว่าเดิม ประเด็นความขัดแย้งและการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในฮ่องกงจะทำให้สงครามการค้ามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลกและนโยบายการค้าของสหรัฐฯทำให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกชะลอตัวลง ภาคธุรกิจชะลอแผนการการลงทุนระยะยาวโดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การเก็บภาษีล่าสุดจะกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะลดลงไม่ต่ำกว่า 0.5% และ เศรษฐกิจจีนลดลงไม่ต่ำกว่า 1% (รวบรวมข้อมูลจากการประมาณการของสำนักวิจัยของสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ) นอกจากนี้ สงครามการค้าสินค้าเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐสหรัฐฯกับอียู และ อียูกับจีนสร้างปัญหาท้าทายต่อโครงสร้างตลาดและการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ของโลก เพราะการแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วทางการค้าทำให้ระบบการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตสินค้าเทคโนโลยีมีต้นทุนสูงขึ้น การพึ่งพากันในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบ การแบ่งค่ายทางเทคโนโลยีจะกดดันให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีและระบบ Ecosystem ของตัวเองขึ้นมา ทำให้การเชื่อมโยง การเปิดกว้างต่อกันและพึ่งพาซึ่งกันและกันน้อยลง ดร. อนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะทิ้งท้ายว่า ไทยที่มีความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจจะต้องสร้างความสมดุลด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนทั้งในด้านการค้าและเทคโนโลยี ขณะเดียวกันอย่าคาดหวังมากเกินไปว่า ผลกระทบจากสงครามทางการค้าจะนำมาสู่การย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกเปลี่ยนไปจากเดิม การย้ายฐานการผลิตจะไม่ใช่เรื่องของค่าแรงราคาถูกแต่จะย้ายฐานไปยังประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและมีแรงงานทักษะสูงมากกว่า เราจึงเห็นได้ว่า การย้ายฐานของบรรษัทข้ามชาติในจีนมาไทยส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ขั้นพื้นฐานหรือขั้นกลาง ของ Delta Electronics บริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์อย่าง Sharp, Besser, Western Digital บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์หรือยางรถยนต์ เป็นต้น ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงจะย้ายไปมาเลเซียและเวียดนามมากกว่า ควรนำกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันมาสนับสนุนให้บริษัทไทยและแรงงานไทยมีผลิตภาพและทักษะสูงขึ้น นอกจากภาครัฐควรออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนแบบไม่ใช้งบประมาณ ใช้การผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการลงทุน ลดขั้นตอน ลดต้นทุนด้านต่างๆเกี่ยวกับการลงทุน การขยายตัวของการลงทุนจะช่วยรักษาระดับการจ้างงานและรายได้ของประชาชนเพื่อรับมือความท้าทายจากการทรุดตัวของการค้าโลกและการส่งออกของไทย ต้องทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐไม่รั่วไหลหรือทุจริตคอร์รัปชัน เม็ดเงินภาษีประชาชนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย เพิ่มต้นทุนการโกงให้สูงขึ้นจนไม่คุ้มที่จะโกง มีกลไกระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพไม่เลือกปฏิบัติ เปิดเผยข้อมูลเรื่องการลงทุนสู่สาธารณะให้ประชาชนและสื่อมวลชนตรวจสอบได้มากขึ้น ลดการใช้อำนาจดุลพินิจในการพิจารณาโครงการลงทุนต่างๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ