ภาพข่าวก.เกษตรฯ “มนัญญา”ลงใต้หนุนเพิ่มมูลค่าสหกรณ์ยาง

ข่าวทั่วไป Monday August 26, 2019 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "รมช.มนัญญา" เยือนลงใต้ เยี่ยมชมสหกรณ์แปรรูปยางพารา หนุนเพิ่มมูลค่ายางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ผุดไอเดียสร้างเพจตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ ยกระดับสินค้าโดดเด่นคุณภาพดีของสหกรณ์ยิงตรงถึงผู้บริโภคมากขึ้น วันนี้ (25 ส.ค.62) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง และสตูล เพื่อตรวจราชการในพื้นที่และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพัฒนาสหกรณ์ และใช้ขบวนการสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร โดยได้เยี่ยมชมและรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการของสหกรณ์ในการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกและนำผลผลิตมาแปรรูปและจำหน่าย ตลอดถึงความสำเร็จในการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรในการผลิตและจำหน่ายการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราของสหกรณ์ "ขณะนี้ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการนำผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปหลายชนิดของสหกรณ์ เช่น กรวยวางบนถนนเพื่อบอกสัญญานการจราจรและแท่งแบริเออร์เพื่อวางกั้นบนพื้นผิวจราจร มาใช้ในโครงการรัฐแล้ว โดยจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากสหกรณ์โดยตรง ซึ่งในวันนี้มาเพื่อศึกษาดูศักยภาพของสหกรณ์ว่ายังขาดด้านใดบ้าง และจะต้องทำรายงานส่งข้อมูลนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) เพื่อให้ทางกระทรวงคมนาคมได้รับทราบข้อมูล ทั้งนี้เราต้องเป็นคนนำตลาด ไม่ใช่ให้ตลาดมาเป็นผู้นำเรา โดยการขายสินค้าต้องดูจากสัดส่วนสัดส่วนก็ดูจากราคาต้นทุน และจากการซื้อยาง การที่ขายให้รัฐผลกำไรต้องตกไปที่ต้นน้ำเพราะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้จะเอาเงินมากองที่สหกรณ์ แต่ต้องลงสู่พี่น้องเกษตรกร เพื่อทำให้ราคายางดีขึ้น โดยจะให้สหกรณ์จังหวัดเข้ามาช่วยดูเรื่องการกำหนดราคายางด้วยนอกจากนี้ เราควรต้องปรับแนวคิดใหม่ ไม่ควรคิดว่าการมีโรงงานอื่นมาตั้งจะเป็นการทำลายสิ่งที่เราทำมา เช่น การที่มีโรงงานจากจีนมาลงทุนทำหมอนยางทีบ้านเรา อย่าคิดว่าเป็นคู่แข่ง ควรคิดให้เป็นประโยชน์ทางการค้า โดยควรเข้าไปเจรจาเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้า ทั้งนี้ จะนำเอาความต้องการของพี่น้องสหกรณ์ชาวสวนยาง มาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาด โดยจะนำข้อมูลความต้องการจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สิ่งที่ควรให้ความสำคัญขณะนี้ คือเรื่องการตลาด จึงมีแนวคิดจะสร้างเพจตลาดสินค้าสหกรณ์ออนไลน์ขึ้น โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าภาพ และตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ดำเนินการ เพื่อให้สหกรณ์สามารถนำเสนอขายสินค้าของสหกรณ์ผ่านทางออนไลน์ซี่งต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและได้รับใบรับรองคุณภาพ โดยจะมีการหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป" นางสาวมนัญญา กล่าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำน้ำยางพาราสดมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราได้มาตรฐานการผลิต มผช. และ OTOP ออกจำหน่าย โดยระดมทุนจากสมาชิกร่วมลงหุ้นและกู้เงินจาก ธ.ก.ส. สาขาควนขนุน จำนวน 450,000 บาท ดำเนินงานในขั้นต้นด้วยการจัดซื้อเครื่องจักรแปรรูปหมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ และหมอนยางพาราชาโคลผสมผงถ่านชาโคล เพื่อจำหน่ายจนเป็นที่ยอมรับของตลาด และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานส่งออกไปยังประเทศจีนไม่น้อยกว่า 4,000 ใบ/ปีในปัจจุบัน นอกจากยังผลิตเสื่อละหมาดยางพารา และยกทรงสตรียางพาราอีกด้วย โดยการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว นับว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยการเพิ่มมูลค่ายางพาราที่สามารถเพิ่มจาก 30 บาท/กก. เป็น 300 บาท/กก. โดยการผลิตหมอนยางพาราใช้น้ำยางสด 1.3กก./ใบ ขายได้ราคา 450 บาท/ใบ ซึ่งมีการซื้อขายไม่น้อยกว่า 4,000 - 6,000 ใบ/เดือน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 10,000 บาท/คน/เดือน นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพชาวสวนยางต่อไปได้เป็นอย่างดี และในอนาคตจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 500 ใบ/วัน หรือ 15,000 ใบ/เดือน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมอก. พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการอบแห้ง เพื่อแก้ปัญหาหมอนอับชื้นอีกด้วย จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดสตูล จำกัด อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และพบปะสมาชิกสหกรณ์และผู้นำท้องถิ่น พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงาน โดยสหกรณ์ดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวของสหกรณ์กองทุนสวนยางในจังหวัดสตูล เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยชุมนุมฯ ได้ดำเนินธุรกิจรวบรวมยางแผ่นรมควันเพื่อจำหน่าย มีการแปรรูปอัดก้อนยางพารา และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา ด้วยการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นของตนเอง มีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 49,087 ไร่ พื้นที่กรีดยางพารา จำนวน 31,764 ไร่ โดยในปีการผลิต 2561/62 ชุมนุมฯ รวบรวมยางแผ่นรมควัน จำนวน 2,004 ตัน มูลค่า 89,522,843 บาทแปรรูปเป็นยางอัดก้อน ปริมาณ 174 ตัน (1,596 ก้อนๆละ 111.11 กก.) มูลค่า 7,962,686บาท และแปรรูปผลิตภัณฑ์แผ่นปูพื้นไม้กวาดยางพารา มูลค่า 22,203,999 บาท โดยจำหน่ายยางอัดก้อนให้แก่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดตรัง กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางธารน้ำทิพย์ และพ่อค้าทั่วไป จึงนับเป็นความก้าวหน้าของชุมนุมสหกรณ์ฯ ในการนำวัตถุดิบจากยางพารามาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามความต้องการของตลาด อาทิ พื้นสนามฟุตซอล ไม้กวาดยางพารา เก้าอี้ยางพารา รองเท้าฟองน้ำยางพารา ที่ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ