เคล็ดลับการเลือกทำ เทอร์มาจ และไฮฟู่

ข่าวทั่วไป Tuesday August 27, 2019 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--ไอเวิร์คพีอาร์ ศ. นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ ประธานวิชาการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ในยุคสมัยนี้การยกกระชับผิวหน้าและผิวหนังบริเวณร่างกายในทุกส่วนสัดให้ดูอ่อนเยาว์เป็นเรื่องใกล้ตัว สำหรับในวงการแพทย์ผิวหนังสมัยใหม่ ความแพร่หลายไม่ได้หยุดเพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายก็ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน เทอร์มาจ (THERMAGE) เป็นหนึ่งในวิธีการกระชับผิวและรักษาผิวหนังที่หย่อนคล้อยโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยใช้พลังคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency) ทำให้เกิดความร้อนสู่ใต้ผิวหนัง กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เทอร์มาจจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการยกกระชับ บริเวณที่มีไขมันเฉพาะจุด ได้ผลดีในบริเวณที่หย่อนคล้อยมาก ๆ กระชับหน้า ให้ผิวกระชับยืดหยุ่น เรียบเนียน ลดริ้วรอยบริเวณใบหน้า เหนียง แขน ขาและหน้าท้อง ส่วนไฮฟู่ อัลตราซาวด์ (HIFU ULTRASOUND) นั้นใช้หลักการพลังงานเสียง HIGH-INTENSITY FOCUS ULTRASOUND ให้เกิดความร้อนไปกระตุ้นคอลลาเจน เมื่อมีการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ จะทำให้ผิวหนังกระชับขึ้น เหมาะกับผู้ที่ต้องการยกกระชับผิวที่หย่อนคล้อย ไม่มีไขมันสะสม โดยหลักการ จำง่าย ๆ ว่า เทอร์มาจ จะเห็นผลชัดเจนในเดือนที่ 3 ของการรักษา แต่ขึ้นอยู่กับสภาพของผิวด้วย ซึ่งจะเห็นผลนาน 1-2 ปี ส่วนไฮฟู่ อัลตราซาวด์ ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจะเห็นผลในการรักษา โดยในระหว่าง 2 – 4 เดือนแรกจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยทั้งสองวิธีเป็นพังผืดของหนังแท้ ให้สร้างใหม่โดยใช้เครื่องมือใหม่ในการแพทย์ ให้พลังงานความร้อนลงสู่หนังกำพร้าลงไปข้างล่างผ่านเส้นใยผิวหนัง ไปกระตุ้นเพื่อสร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้โดยหลักการสามารถเลือกทำทั้งสองวิธีได้ในเวลาเดียวกัน โดยแต่ละวิธีก็จะมีผลข้างเคียง การไหม้ของผิวหนังแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่1 คือจะเห็นริ้วรอยแดง ๆ ที่หนังกำพร้า ระดับที่ 2 จะเห็นตุ่มน้ำ ถ้าแตกจะเห็นน้ำเหลืองไหลออกมา ระดับลึกลงไปถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ทั้งนี้ในระดับ 2 หรือ ในระดับที่ 3 มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้ ส่วนในระดับที่ 1 อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในระยะหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามในการรักษาโรคทุกโรค โดยเฉพาะทางด้านความสวยความงาม ผลของการรักษาจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ความรู้ความสามารถของแพทย์ 2. ประสิทธิภาพของเครื่องมือและยารักษา และ 3.ตัวผู้ที่มารับการรักษา ต้องปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ต้องใช้ดุลยพินิจของตนเอง ตรวจสอบประวัติแพทย์ที่จะมารักษา ว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จริงหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันในแพทยสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ก็มีข้อมูลให้เลือกตัดสินใจโดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.dst.or.th ได้ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ