มทร.อีสาน เปิดห้อง Fabrication Lab ผลิตนักนวัตกรรมแห่งอนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday August 28, 2019 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มุ่งผลิตนักนวัตกรรม (innovator) ต่อยอดบัณฑิตนักปฏิบัติผ่านห้องปฏิบัติการต้นแบบ Fabrication Lab และกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ CDIO และมาตรฐานทักษะ Meister ประเทศเยอรมัน พร้อมผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการในศตวรรษที่ 21 รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2559 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ได้มีการ MOU ร่วมกับ Singapore Polytechnic จากประเทศสิงคโปร์และ มทร. อีก 8 แห่ง เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระบบ CDIO ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสอนหลักสูตรวิศวกรรมโดยเฉพาะ และพัฒนาขึ้นโดยเริ่มต้นที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาสาขาอื่นๆ อย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยแนวการเรียนการสอนแบบ CDIO มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) 4 ด้านหลัก ได้แก่ Conceive ความสามารถทำความเข้าใจผู้ใช้ ผู้ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม คิดวิเคราะห์ และชี้ปัญหาได้ Design คือความสามารถในการออกแบบ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ได้ Implement คือความสามารถดำเนินการ ประยุกต์ หรือลงมือแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างสัมฤทธ์ผล Operate คือความสามารถพัฒนาและควบคุมระบบต่างๆ ให้ดำเนินงานต่อไปได้อย่างเหมาะสม มทร.อีสาน จึงได้ส่งบุคลากรไปอบรมการเป็นครูผู้ฝึกสอน (master trainer) ณ ประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ.2560 จึงได้เข้าร่วมงาน CDIO Forum ณ ประเทศสิงคโปร์อีกครั้งจึงได้เห็นการนำเสนองานของนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา เราพบว่านักศึกษาเหล่านั้นสามารถนำเสนองานอย่างมีความสุข มีแววตาเป็นประกาย มีความมั่นใจและมีการนำเสนอที่สร้างสรรค์ นั่นคือ ในสถานศึกษาเขาใช้ระบบ CDIO ไปใช้ จึงทำให้นักศึกษามีความกล้าในการนำเสนอผลงาน และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เราจึงหยิบยกกระบวนการเหล่านี้มาปรับใช้การเรียนการสอน ณ มทร.อีสาน รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า CDIO เป็นระบบการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมี 12 มาตรฐาน โดย Fabrication Lab คือหนึ่งในนั้น เรียกสั้นๆ ว่า Fab Lab คือ ห้องแลปที่ใช้ในการสร้างสิ่งที่เกิดจากไอเดีย สู่ชิ้นงานหรือเป็นผลิตภัณฑ์ (product) สำเร็จหรือต้นแบบขึ้นมา ซึ่งจะช่วยในการมองเห็นภาพจริงของนักศึกษา และเป็นตัวช่วยให้นักศึกษาสามารถถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นชิ้นงานได้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถสร้างนักศึกษาให้เป็นนักนวัตกรรม (innovator) ในอนาคตได้ และในอนาคต Fab Lab จะเป็นส่วนหนึ่งของการสอนรายวิชา introduction to engineer คือ วิชาที่จะนำไปสู่การเป็นวิศวกรที่สมบูรณ์ โดยวิชา introduction to engineer เป็นหนึ่งในมาตรฐานของ CDIO และห้องเรียนแห่งนี้เราตั้งใจออกแบบ (create) มีความทันสมัย (modern) ให้เหมาะกับการสร้างจินตนาการ มีเครื่องมือทันสมัย สามารถติตต่อสื่อสารผ่านมือถือได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันยังใส่ความเป็นศิลปะ (art) แต่ยังมีสีสันของความเป็นวิศวะอยู่ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะผนวกรวมให้ผู้เรียนต้องการเข้ามาใช้ เป็นการสร้างจินตนาการให้เขาได้ นอกจากห้องเรียนแล้ว เรายังมีพื้นที่ว่างให้ผู้เรียนสามารถเข้ามาใช้ทดสอบนวัตกรรม แบบจำลองต่างๆ ได้ ซึ่งห้อง Fab Lab นี้จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้เรียนมีความคิดความอ่านที่อิสระเสรี รู้จักนำจินตนาการมาสร้างเป็นสิ่งที่สามารถใช้ได้จริง และสามารถวิเคราะห์ทางวิศวกรรมว่าการใช้งานในอุตสาหกรรมจริงจะเป็นอย่างไร เราพยายามเชื่อมโยงให้เขาเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ในอนาคตถ้า Fab Lab เข้าสู่การเชื่อมโยงกับหลักสูตรได้ ในราวปี พ.ศ.2566 เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กวิศวะ ที่เกิดขึ้นใหม่ เขาจะไม่ใช่วิศวกรที่ทำงานอย่างเดียว เขาจะมีความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ออกแบบสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาได้ นี่คือในอนาคตที่จะเกิดเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องมีคือ innovator มีความเป็นนักสร้านวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งรับรองว่าคณาจารย์ของเรามีทักษะปฏิบัติสูง เรามีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนสอนใหม่ แต่เดิมอาจเป็นการสอนแบบ Lecture base แต่มาตรฐาน CDIO ต้องสอนแบบ active learning อาจารย์เราจึงต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเด็กยุคใหม่ เพื่อให้อาจารย์สามารถสอนให้เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กล้าแลกเปลี่ยนข้อมูล มีความคิดเชิงวิพากษ์ มีการทำงานเป็นกลุ่มและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามห้องปฏิบัติการต้นแบบ Fabrication Lab เป็นการเริ่มต้นในการเปลี่ยนรูปแบบการจัดเรียนการสอนของ มทร.อีสาน ที่จะผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งเดิมสถานประกอบการมักบอกว่าเราผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญ แต่สื่อสารไม่ดี ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เราคาดว่าระบบนี้จะผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่ตอบสนองความต้อการของเด็กและสถานประกอบการในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดครับ รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ