กลุ่มมิตรผล สนับสนุนสะพานเชื่อมโยงทางการศึกษา ร่วมพัฒนาวิทยาลัยเทคนิคชุมแพ สู่แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน ปลูกจิตสำนึกสร้างเยาวชนรักษ์พลังงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 3, 2019 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ การใช้พลังงานโดยขาดความตระหนักไม่เพียงแต่จะทำให้แหล่งพลังงานที่มีอยู่จำกัดลดเหลือน้อยลง แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมตามมาทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ในการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต นอกจากการเตรียมทักษะความพร้อมด้านอาชีพให้กับพวกเขาแล้ว การปลูกจิตสำนึกการใช้พลังงานอย่างรู้ค่าจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ภายในพิธีเปิดโครงการ CTC-G5 (Chumphae Techinical College Generation 5) ซึ่งริเริ่มโดย วิทยาลัยเทคนิคชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานราชการและสถานศึกษาในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้พร้อมเข้าสู่สถานประกอบการ และสร้างทรัพยากรบุคคลคุณภาพให้กับประเทศชาติ พร้อมขับเคลื่อนแนวคิด "สะพานเชื่อมโยงทางการศึกษา" ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยความร่วมมือในทุกระดับจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับฝ่ายบริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชนและผู้ประกอบการ กลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้ประกอบการและสมาชิกของชุมชนอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างสะพานเชื่อมโยงทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุมชน จึงได้มอบและติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Rooftop แบบ On-grid ขนาด 3 กิโลวัตต์ แก่วิทยาลัยเทคนิคชุมแพ เพื่อให้คณะอาจารย์และนักศึกษาได้ใช้เรียนรู้เพื่อประโยชน์ทางอาชีพในอนาคต ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนของชุมชน พร้อมปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนเห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์พลังงาน ดร. บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า "ด้วยพันธกิจหลักของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเติบโตเข้าสู่ภาคประกอบการอย่างมีคุณภาพ ในการเรียนในสายอาชีวศึกษานั้น นอกจากความรู้ทฤษฎีในห้องเรียนแล้ว การฝึกปฏิบัติเพื่อสร้างทักษะเป็นสิ่งสำคัญมาก แผง Solar Rooftop ที่กลุ่มมิตรผลติดตั้งและมอบให้แก่วิทยาลัยฯ ไม่เพียงแต่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ที่สำคัญสำหรับนักเรียนนักศึกษา แต่วิทยาลัยฯ ยังสามารถนำไฟฟ้าที่ได้จากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านค่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้า และมีงบประมาณเหลือสำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาวิทยาลัยต่อไป ไม่ว่าจะในด้านสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากรผู้สอน ตลอดจนการฝึกงานของนักเรียน เพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป" ด้านนายสำเริง สุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชุมแพ เผยว่า "วิทยาลัยฯ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาสถานศึกษาแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืนให้กับคนในชุมชนและสถานศึกษาอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มมิตรผลได้สนับสนุนความตั้งใจนี้ด้วยการมอบ Solar Rooftop ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้วิทยาลัยฯ สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้แล้ว สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ นักศึกษาของเราจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การประกอบ ติดตั้ง และใช้งานเทคโนโลยีพลังงานทดแทนใหม่นี้จากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานทักษะทางอาชีพให้กับเยาวชน พร้อมๆ ไปกับการปลูกจิตสำนึกให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าของพลังงาน" นายอาณัติ ยศปัญญา กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "ภายใต้แนวคิด 'ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ' กลุ่มมิตรผล ในฐานะสมาชิกของชุมชน ดำเนินธุรกิจด้วยความตั้งใจที่จะผลักดันให้ชุมชนบริเวณรอบโรงงานพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงมุ่งสนับสนุนและดูแลชุมชนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อร่วมสร้างความพร้อมให้กับเยาวชนได้เติบโตเป็นบุคลากรคุณภาพเพื่อกลับมาพัฒนาชุมชนในอนาคต กลุ่มมิตรผลจึงยินดีส่งต่อประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาธุรกิจพลังงานมานานกว่า 20 ปี ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร ให้กับนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคชุมแพ ด้วยการมอบแผง Solar Rooftop เพื่อร่วมส่งเสริมให้วิทยาลัยแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่และชุมชนในพื้นที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียนจากวิทยาลัยฯ เข้ามาฝึกงานที่โรงงาน เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ" นายเดชาวัต เรืองเจริญ นักศึกษาวิชาชีพไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคชุมแพ กล่าวว่า "ผมมีความสนใจอยากศึกษาและทำงานด้านพลังงานไฟฟ้ามาโดยตลอด พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สามารถผลิตได้ไม่มีวันหมด และในอนาคตจะเข้ามาทดแทนพลังงานจากแหล่งอื่นๆ มากขึ้น ขอบคุณมิตรผลที่ให้โอกาสพวกเราได้เรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานใหม่นี้ และผมจะนำความรู้และทักษะที่ได้ไปให้กับอาชีพในอนาคตต่อไป" ทั้งหมดนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในฐานะสมาชิกของชุมชน เพื่อสร้างสะพานเชื่อมโยงทางการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับทางการศึกษา จิตสำนึกรักษ์พลังงาน และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ