สพฉ.เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมระวังสัตว์มีพิษกัดระบุ แมงป่อง ตะขาบ งู เป็นสัตว์ที่มากับน้ำท่วมมากที่สุด

ข่าวทั่วไป Monday September 16, 2019 15:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 สพฉ.เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมระวังสัตว์มีพิษกัด ระบุ แมงป่อง ตะขาบ งู เป็นสัตว์ที่มากับน้ำท่วมมากที่สุด พร้อมแนะวิธีสังเกตอาการหากถูกกัด หากแพ้รุนแรงให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669 นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังมีอยู่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ในโซนภาคอีสานอย่างจังหวัดอุบลราชธานีสถานการณ์น้ำท่วมยังมีปริมาณที่มากและนอกจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)จะได้ประสานในการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในช่วงน้ำท่วมแล้ว ล่าสุดได้มีข้อแนะนำในการะวังภัยของสัตว์มีพิษและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากประชาชนถูกสัตว์มีพิษที่อาจมากับน้ำท่วมกัด โดยนพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง บางพื้นที่ไมมีฝนตกแล้วแต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากน้ำที่ยังท่วมขังในพื้นที่อยู่ ตนจึงอยากเตือนให้ประชาชนระวังสัตว์มีพิษที่มักมากับน้ำหรืออยู่กับน้ำ ซึ่งโดยสัตว์มีพิษที่ประชาชนควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ งูพิษ ตะขาบ ซึ่งวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเราถูกแมงป่องกัดดีดังนี้เบื้องต้นเราต้องทำความสะอาดบริเวณแผลที่ถูกแมงป่องกัดด้วยน้ำสะอาด และเราสามารถประคบเย็นได้ครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ ถ้ามีอาหารปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อระงับอาการปวดได้ และในส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเราถูกตะขาบกัด ซึ่งหากถูกตะขาบกัดให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการล้างแผลที่ถูกตะขาบกัดให้สะอาด กินยาพาราเซตามอลแก้ปวด ให้ยาหม่องทาบางๆเบาๆ ไม่กดนวด ตรงบริเวณที่ถูกตะขาบกัด และหากมีอาการปวดมากให้ใช้น้ำอุ่นประคบที่แผลประมาณ 20 นาที และ ซึ่งการถูกสัตว์ทั้งสองชนิดกัดหากท่านปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วมีอาการแพ้รุนแรงเช่นบวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ ให้รีบโทรสายฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที รองเลขาธิการสถาบันการแทพย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า นอกจากแมงป่องและตะขาบที่กล่าวไปข้างต้นแล้วงูพิษก็เป็นสัตว์ที่น่ากลัวที่สุดอีกชนิดหนึ่งที่มากับน้ำ โดยงูจะแฝงตัวอยู่ในพื้นที่รกและชื้นแฉะ ซึ่งข้อมูลจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ระบุว่า งูพิษที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ 1.งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา โดยพิษของงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาต จะเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไปจนถึง กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสุดท้ายจะเป็นทั้งตัว อาการแรกเริ่ม คือ หนังตาตก ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้น ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดๆ ว่าผู้ป่วยง่วงนอน ต่อมาจะเริ่มกลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจ เสียชีวิต 2.งูพิษที่มีผลต่อระบบเลือด ได้แก่ งูแมวเซา ซึ่งหากถูกกัด จะมีอาการปวดบวมบริเวณรอบแผลเล็กน้อย และงูกะปะ หากถูกกัดจะพบตุ่มน้ำเลือด และมีเลือดออกจากแผลที่ถูกกัด ส่วนกรณีของงูเขียวหางไหม้ จะมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัด และลามขึ้นค่อนข้างมาก เช่น ถูกกัดบริเวณนิ้วมือ แต่บวมทั้งแขน นอกจากนี้จะมีอาการช้ำเลือด และ พิษของงูจะไปทำให้เลือดในร่างกายไม่แข็งตัว เลือดออกไม่หยุด หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง ปัสสาวะมีเลือดปน เลือดออกตามไรฟัน หรือพบภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วยได้ และ 3.งูพิษที่มีผลทำลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล โดยจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว ปัสสาวะมีสีเข้มจนถึงสีดำ ปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากมีภาวะไตวายเฉียบพลัน อาจมีหัวใจหยุดเต้นจากภาวะโพแทสเซียมคั่งในเลือด นพ.ไพโรจน์กล่าวว่า หากท่านพบเห็นผู้ที่ถูกงูพิษเหล่านี้กัด เมื่อตรวจสอบแล้วว่าเป็นงูพิษ ให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ จากนั้นให้ทำการปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยต้องรีบล้างแผลให้สะอาด ห้ามกรีดบาดแผล หรือดูดเลือดออกจากบาดแผลเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความเข้าใจผิดและอาจจะทำให้ผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะได้รับพิษไปด้วยหากมีบาดแผลในช่องปาก นอกจากนี้ห้ามกินยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะจะไปเสริมฤทธิ์ให้พิษงูทำงานเร็วยิ่งขึ้น และควรจัดให้ผู้ที่ถูกงูพิษกัดอยู่ในท่าที่สบายนอนนิ่งๆ และเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ใช้ผ้ายืดหรือหาผ้าสะอาดพันรอบอวัยวะส่วนที่ถูกกัดให้กระชับ โดยพันจากส่วนปลายขึ้นมาจนสุดบริเวณอวัยวะถูกกัด แล้วทำการดามด้วยของแข็งเพื่อลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะบริเวณที่ถูกกัด แล้วรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ที่สำคัญไม่ควรปฐมพยาบาลด้วยการขันชะเนาะ เพราะหากทำผิดวิธีจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายมากยิ่งขึ้น และหากผู้ป่วยฉุกเฉินหยุดหายใจจะต้องรีบทำการฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ทันที ทั้งนี้สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษเหล่านี้เข้าบ้านในช่วงเวลาน้ำท่วมเช่นนี้ ในส่วนของงูนั้นหากเรามีปูนขาวก็สามารถนำปูนขาวมาโรยรอบบริเวณที่เราอยู่อาศัยหรือบริเวณที่เราหนีภัยจากน้ำท่วมก็จะสามารถป้องกันงูได้ และในส่วนของตะขาบและแมงป่องมักชอบอยู่อาศัยและซุกตัวอยู่ในที่อับชื้นและรก หากเราจำเป็นต้องเข้าไปในที่รกร้างอับชื้นควรแต่งกายให้มิดชิด สวมรองเท้าบู๊ทและใช้ไม้ตีตามจุดต่างๆ เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นตกใจหนีไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ