สถานการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันซาอุฯ หากยืดเยื้ออาจจะดันเงินเฟ้อปี’ 62 เพิ่มอีก 0.3%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 17, 2019 09:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีทางอากาศ (จากโดรน) ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 16 ก.ย. 2562 ดีดตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 หลังตลาดซื้อขายล่วงหน้าเปิดทำการ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 12 หรือเพิ่มขึ้น 7.06 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จากราคาปิดตลาดซื้อขายเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. 2562 สู่ระดับ 67.28 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล (อ้างอิงราคาน้ำมันดิบเบรนท์จาก CNBC) เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกหวั่นวิตกต่อปัญหาการขาดแคลนอุปทานน้ำมันดิบ นั่นเป็นเพราะซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียสูญเสียกำลังการผลิตน้ำมันดิบไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตทั้งสิ้น 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 58.2 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของซาอุดีอาระเบีย และคิดเป็นร้อยละ 5.7 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก (อยู่ที่ 99.24 ล้านบาร์เรลฯ ต่อวันในเดือนส.ค. 2562) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจไทยโดยแบ่งเป็น 2 กรณีตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์การตอบโต้ ดังต่อไปนี้ กรณีฐานซาอุดีอาระเบียไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ อาทิ การข่มขู่ให้กลัว การตอบโต้โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับอิหร่าน ก็น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ภายใต้สมมุติฐานนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทยอยปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับเดิมก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ (ที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉพาะในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2562 โดยคาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 4 เดือนหลังของปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 จากประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเดิม (กรณีที่ไม่มีเหตุการณ์โรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีทางอากาศ) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.84 กรณีที่ซาอุดีอาระเบียใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2562 สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นประกอบกับอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ลดลงน่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในระดับที่สูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปี 2562 (จากเดิมที่เคลื่อนไหวใน 50-70 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทางด้วยกัน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2562 โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่ขยับขึ้นจะส่งผลต่อระดับราคาพลังงานในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ก๊าซ NGV รวมถึงก๊าซ LPG ซึ่งจะส่งผลต่อระดับราคาผู้บริโภคภายในประเทศทั้งทางตรงจากการบริโภคพลังงานที่มีราคาสูงขึ้น และทางอ้อมผ่านการปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการหลังแบกรับต้นทุนพลังงานที่แพงขึ้น เช่น อาหารทานนอกบ้าน ค่าโดยสารสาธารณะ (โดยเฉพาะค่าโดยสารเรือสาธารณะที่มีการปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ) เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 4 เดือนสุดท้าย (ก.ย. –ธ.ค.) ของปี 2562 จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้นมาที่ระดับใกล้เคียง 30 บาทต่อลิตร (จากปัจจุบันที่ 26.09 บาทต่อลิตร) ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดการณ์ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2562 เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากร้อยละ 0.72 (ประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในกรณีที่ไม่มีสถานการณ์โรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตี) มาอยู่ที่ร้อยละ 1.48 ซึ่งจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปี 2562 ขยับขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 0.82 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.08 หรือปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ฯ ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2562 จะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2562 เกินดุลลดลงราว 1,231 ล้านดอลลาร์ฯ จากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบจากการเกินดุลการค้าที่ลดลงจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2562 ให้ลดลงราวร้อยละ 0.2-0.3 ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐในการดูแลราคาพลังงานในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเกินดุลการค้าที่ลดลงอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันของค่าเงินบาทที่แข็งค่าจากการเกินดุลการค้าของไทยที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ที่มา: กระทรวงพาณิชย์และศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ