นักวิชาการ ห่วงสุขอนามัยผู้ประสบภัยน้ำท่วม แนะ หลังขับถ่าย ใช้ปูนขาวฆ่าเชื้อโรค

ข่าวทั่วไป Tuesday September 17, 2019 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังได้รับอิทธิพลของพายุ "โพดุล" และ "คาจิกิ" ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ทำให้อุบลฯ ประสบภาวะน้ำท่วมอย่างหนักสุดเป็นประวัติศาสตร์ และอาจมีระยะเวลาท่วมยาวนานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ปลายน้ำที่แม่น้ำสายหลักๆในอีสาน ทั้งแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ไหลมารวมกันก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อ.โขงเจียม ทำให้จังหวัดอุบลเป็นพื้นที่รับน้ำของภาคอีสาน สถานการณ์ในภาพรวมของจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมใน 23 อำเภอประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่าห้าแสนครัวเรือน แม้ขณะนี้ระดับน้ำจะลดลงบ้างแล้วแต่คาดว่าสถานการณ์น้ำจะยังคงท่วมอยู่อีกไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ โดยมีพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 5 อำเภอริมแม่น้ำมูลได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตาลสุม และอำเภอสว่างวีระวงศ์ ล่าสุด หน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกภาคส่วนได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่นอกจากสิ่งของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคอาหารและน้ำ " เรื่องน้ำ ถือเป็นส่วนสำคัญมาก เนื่องจากในพื้นที่ประสบน้ำท่วมทั้งจังหวัดต้องระวังเรื่องของน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนรวมถึงน้ำที่ใช้ล้างทำความสะอาดด้วย ปัญหาคือว่าเราจะหาน้ำดื่มที่ดีได้อย่างไรบ้าง" ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวแสดงความเป็นห่วงว่า ปัญหาสำคัญที่พ่วงมากับสถานการณ์น้ำท่วมคือ นอกจากเรื่องของน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคต่างๆ แล้ว สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามและสงสัยในลำดับต่อมาคือ การขับถ่าย... จะขับถ่ายอย่างไรเมื่อน้ำเยอะมากมายขนาดนั้น "ระบบขับถ่ายเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่ก็ต้องป้องกันโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นด้วย โดยการขับถ่ายอุจจาระใส่ถุงเสร็จแล้วเติมปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคและมัดปากถุงให้สนิท ซึ่งจะช่วยในการแก้ปัญหาในระดับหนึ่งได้ รวมถึงการใช้ส้วมเคลื่อนที่ก็เช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เราต้องดูแลเรื่องของสุขอนามัย ไม่ใช่แค่เพียงป้องกันในช่วงน้ำท่วมเท่านั้น แต่หลังจากน้ำลดปัญหาตามมาคือเรื่องของสิ่งสกปรกต่างๆ เชื้อรา และเชื้อโรค ที่อาจเกิดในบ้านหรือในห้องส้วม ดังนั้นการทำความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอันดับแรกต้องมีการฆ่าเชื้อโรคให้ดีก่อน ก่อนที่จะกลับไปใช้อีกครั้ง ควรล้างและฉีดยาฆ่าเชื้อราโดยอาจจะใช้น้ำปูนขาวช่วยในการฉีดทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค อาจจะได้ไม่หมดแต่ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง หรือการทำ big cleaning หลังน้ำลด" ส่วนกรณีน้ำเสียจากบ่อบำบัดที่ถูกน้ำท่วมทำให้กังวลว่าน้ำเสียจะแพร่กระจายเข้าไปปนกับน้ำท่วมขังและจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆได้นั้น ดร.ธรรมรัตน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าห่วงเท่ากับน้ำท่วมบ่อขยะ เพราะปริมาณมวลน้ำท่วมที่มีมากกว่าปริมาณน้ำเสียจะทำให้เกิดการเจือจางลงจึงไม่น่ามีปัญหามากนัก แต่ถ้าน้ำท่วมทะลักเข้าไปท่วมถึงบริเวณบ่อขยะตรงนี้จะมีความน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะนำมาซึ่งการแพร่กระบาดของโรคต่างๆแม้ขยะที่อยู่ในบ่อฝังกลบถ้าน้ำท่วมก็จะพัดพาเอาขยะเหล่านั้นไหลลงสู่แม่น้ำและทะเลได้ในที่สุด โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งจากการติดตามรายงานสถานการณ์ผลกระทบสถานที่กำจัดขยะหรือบ่อขยะในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมของจังหวัดอุบลราชธานี ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแต่อย่างใด จึงทำให้ไม่น่าห่วง " สำหรับข้อแนะนำหลังน้ำลด นอกจากการทำความสะอาดห้องน้ำก่อนที่จะกลับมาใช้แล้ว อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ที่ยังใช้ได้อยู่ หากจะนำกลับมาใช้อีกครั้ง จะต้องทำความสะอาดให้ดีเสียก่อนรวมทั้งจะต้องมีการกำจัดหรือฆ่าเชื้อโรค เพราะยิ่งสิ่งของที่จมอยู่ในน้ำนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นที่สะสมของเชื้อโรคมากมายโดยเฉพาะหลังน้ำแห้งจึงต้องระมัดระวังให้มากหากจะนำกลับมาใช้แม้แต่ตัวบ้านที่จมน้ำมานานก่อนกลับเข้ามาอยู่ต่อก็จะต้องถูกทำความสะอาดก่อนเช่นกัน โดยเบื้องต้นให้ใช้น้ำปูนขาวฉีดลาดทำความสะอาดก่อนหลายๆ ครั้ง จากนั้นจึงค่อยล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ตามฝาเพดานและเครื่องปรับอากาศก็ต้องทำความสะอาดก่อนจะกลับมาใช้ใหม่เพราะมีความชื้นและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ง่าย ส่วนตัวบ้านโดยเฉพาะบ้านไม้ซึ่งมีความชื้นก่อให้เกิดเชื้อราได้ง่ายอาจต้องใช้ระยะเวลาในการทำความสะอาดนานกว่า เพราะต้องรอให้ไม้แห้งก่อนจึงจะฉีดพ่นน้ำยาเพื่อฆ่าเชื้อโรคได้ หากฉีดล้างขณะที่ยังเปียกหรือมีความชื้นอยู่การฆ่าเชื้อโรคอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก และต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ และแนะนำว่า กรณี ฟูก ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ที่จมน้ำนานๆไม่ควรนำกลับมาใช้ต่อเพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ อีกมากมายแม้น้ำจะแล้งแล้วก็ตาม" สำหรับแนวทางในการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยกรมควบคุมมลพิษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดวัน Big Cleaning Day เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยให้มีหน่วยซ่อมแซมวัสดุเครื่องใช้ต่างๆที่ได้รับความเสียหายและให้กำหนดจุดรวบรวมและให้นำขยะไปกำจัดในสถานที่กำจัดขยะ โดยให้มีการแยกประเภทของเสียอันตรายออกต่างหาก ส่วนขยะที่มีขนาดใหญ่จะกำหนดพื้นที่เฉพาะในการจัดการในสถานที่อื่นๆ ที่เหมาะสม และประสานงานให้ประชาชนผู้คัดแยกขยะมาดำเนินการคัดแยกชิ้นส่วน เพื่อนำไปจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ