ดูแลหัวใจ ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

ข่าวทั่วไป Wednesday September 18, 2019 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--มาร์คมีเดีย ปัจจุบันหนึ่งโรคภัยสุขภาพที่น่ากลัวและพบมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันข้อมูล ตัวเลขจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดเผย ณ วันที่ 16 กันยายน 2561 มีอัตราการตายถึง 20,855 คน ต่อปี หรือ ชั่วโมงละ 2 คน นพ.สุทัศน์ คันติโต อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดการสร้างคราบไขมัน (Plaque) ที่ไปเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจลดลงเรื่อย ๆ จนไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและอาจร้ายแรงถึงขั้น เสียชีวิตได้ โดยสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดจาก อายุที่มากขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลสูง ระดับไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน รวมไปถึงการการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเครียดและขาดการออกกำลังกาย ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจที่สามารถพบได้ ได้แก่ รู้สึกเจ็บหน้าอกจนทนไม่ไหว แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก อ่อนเพลียไม่มีแรง เหนื่อยง่าย สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งหากผู้ป่วยให้ข้อมูลและรายละเอียดอย่างถูกต้องทั้งประวัติ และอาการที่ปรากฏจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงหรือการวิ่งสายพาน การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 รักษาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ ลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็มจัด เพิ่มผักสดและผลไม้ที่ไม่หวานจัด จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพประจำปี ระดับที่ 2 รักษาโดยการใช้ยา ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาที่ช่วยให้การไหลเวียนหรือสูบฉีดเลือดดีขึ้น ซึ่งต้องรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง ระดับที่ 3 รักษาโดยการทำหัตถการ เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) หรือใส่ขดลวด (Stent) เข้าไป เพื่อขยายหลอด เลือดหัวใจตีบให้ทำงานได้เป็นปกติ และระดับที่ 4 รักษาโดยการผ่าตัด ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft - CABG) ดังนั้น โรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถป้องกันได้จากการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้คือ อายุ พันธุกรรม และเพศ สำหรับผู้ชายที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนอายุ 40 ปี และผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 50 ปี อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ประกอบด้วย การใช้ชีวิต อาหาร การออกกำลังกาย การจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการงดสูบบุหรี่ รวมไปถึงเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน ระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด หากรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและห่างไกลจากการเป็นโรคหัวใจ และลดอัตราเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ รวมทั้งการเข้ามาตรวจสมรรถภาพหัวใจทุกปี ก็เป็นหนึ่งแนวทางการป้องกันได้ เพราะหากรู้เร็วว่าเรามีความเสี่ยง จะสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ