กอปภ.ก.ประสานศูนย์ ปภ.เขต และจังหวัดเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก และลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 20 - 25 ก.ย. 62

ข่าวทั่วไป Friday September 20, 2019 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานหน่วยปฏิบัติในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือ ฝนตกหนัก และลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 20 - 25 กันยายน 2562 โดยให้ศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดติดตามข้อมูลปริมาณน้ำ การระบายน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยและเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแก่ประชาชนผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562 แจ้งว่า ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีความกดอากาศสูงปกคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 19 – 22 กันยายน 2562 จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนชื้น ทำให้มีสภาวะอากาศแปรปรวน เกิดลมกระโชกแรง ฝนฟ้าคะนอง ฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักหลายพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 21 – 22 กันยายน 2562 จากนั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 23 – 25 กันยายน 2562 โดยพื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมาก และลมกระโชกแรง แยกเป็น ภาคเหนือ ทุกจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง ทุกจังหวัด ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต ส่วนพื้นที่ที่จะมีอุณหภูมิลดลง แยกเป็น ภาคเหนือ ทุกจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่นมหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท ลพบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่ง กอปภ.ก. ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือสถานการณ์ภัย โดยกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสาน ให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ