“รมช.ประภัตร” เดินสายสร้างการรับรู้เกษตรกรนาแปลงใหญ่ พัฒนาระบบการผลิตข้าว เน้นผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เตรียมเปิดขายตลาดออนไลน์ นำร่อง จ.สุพรรณบุรี

ข่าวทั่วไป Monday September 30, 2019 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมสร้างความเข้าใจการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐาน การรับรองแบบกลุ่ม ในพื้นที่นาแปลงใหญ่ จังหวัดสุพรรณบุรีว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิต จำหน่ายและบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งในรูปของกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด การเชื่อมโยงตลาด และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้าเกษตร ทั้งนี้ นาแปลงใหญ่ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตและบริหารจัดการผลิตข้าว มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกรให้มีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตข้าวแบบเดิม โดยผสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่การเพาะปลูกข้าวไปจนถึงการตลาด รวมทั้งการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน อาทิ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ทั้งนี้ กระบวนการรับรองการผลิตข้าว มีทั้งการรับรองรายเดี่ยว และการรับรองแบบกลุ่ม ซึ่งการขอการรับรองแบบกลุ่มนั้น จะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา สร้างความเข็มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถขอการรับรองได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่โครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งบูรณาการงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมการข้าว เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกร ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแบบกลุ่ม "เกษตรกรเองจะต้องช่วยกันผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน Q ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และขณะนี้กำลังส่งเสริมการขายระบบออนไลน์ โดยในวันศุกร์ที่ 4 ต.ค. 62 จะนำร่องที่หมู่บ้านอยุรักษ์ควายไทย จ.สุพรรณบุรี ก่อน โดยให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรของตนเองที่ได้รับรองมาตรฐาน Q มาลองขายผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เกษตรกรได้ขายสินค้าเกษตรของตัวเองโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เชื่อว่าหากทุกอย่างมีตลาด เกษตรกรก็จะสามารถผลิตและขายได้ราคาดี" นายประภัตร กล่าว ด้าน นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเสริมว่า กระบวนการรับรองการผลิตข้าวแบบกลุ่ม เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถขอการรับรองได้รวดเร็วขึ้น โดยกลุ่มเกษตรกรต้องมีระบบการผลิตและระบบควบคุมภายในกลุ่ม (Internal Control System) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับรองว่า กิจกรรมการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและเชื่อถือได้ การมีระบบควบคุมภายในของกลุ่มเกษตรกรจะช่วยให้กลุ่มมีการบริหารงานเป็นระบบในลักษณะการประกันคุณภาพของกลุ่ม โดยใช้เอกสารต่างๆ เป็นเครื่องมือ ช่วยให้กลุ่มสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามแนวทางความยั่งยืนหรือข้อปฏิบัติของกลุ่มที่ได้ตกลงกันไว้ "ที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ยโสธร และสุรินทร์ โดยให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกรให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแบบกลุ่ม การพัฒนาเอกสารระบบควบคุมภายในกลุ่ม ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรขอการรับรองแบบกลุ่มขอบข่าย การผลิตข้าว GAP/อินทรีย์ โดยบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของกรมการข้าวในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลุ่มเกษตรกรก่อนที่จะขอการรับรองแบบกลุ่มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป" เลขาธิการ มกอช. กล่าว สำหรับนาแปลงใหญ่ ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม ขอบข่ายข้าว GAP จำนวน 115 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม พื้นที่รวม 2,095 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 และปทุมธานี 1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ