สสส.ร่วมกับ สถ. จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากร ปี 2 ยกระดับผู้นำระดับชุมชนท้องถิ่น พร้อมประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และมอบรางวัลสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น 250 คน ต้อง “อาสาทำดี”

ข่าวทั่วไป Tuesday October 1, 2019 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร (Community Key Actors Summit: Enhancing Population Health) ระหว่างวันที่ 3 – 5 ต.ค. 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อขยายแนวคิด แนวทางการดำเนินงาน และวิธีการเชิงเทคนิคของ 13 กลุ่มประชากร ผ่านสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น (Community Key Actors) เข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับขบวนการขับเคลื่อนของทุกระดับ โดยมีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจำนวนกว่า 900 ตำบล ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น พนักงานท้องถิ่น นักวิชาการชุมชนท้องถิ่น ผู้นำ/แกนนำกลุ่มหรือชมรม คณะกรรมการพัฒนาตำบล (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) สถาบันวิชาการ คณะกรรมการบริหารแผน ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคียุทธศาสตร์ สื่อมวลชน และผู้สนใจ รวมจำนวนกว่า 4,000 คน นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การทำงานของ สสส.สำนัก 3 และภาคีเครือข่าย จะเสาะหาโอกาสทำงานให้สำเร็จ กระตุ้นชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในปี 2562 แผนสุขภาวะชุมชนโดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ทบทวนงานและกิจกรรมต่อเนื่องจากปี 2561 ภายใต้ 2 หลักการ คือการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และทุกนโยบายคำนึงถึงสุขภาวะ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจกว่า 2,000 ตำบล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกับทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ถอดบทเรียนจากพื้นที่ต้นแบบ และทบทวนองค์ความรู้จากงานวิชาการ จึงได้เลือก 13 กลุ่มประชากรที่ครอบคลุมการดำเนินงานในพื้นที่ สอดคล้องกับภารกิจของ สสส. และวาระของประเทศ ประกอบด้วย 1. เด็ก 0-2 ปี 2. เด็ก 3-5 ปี 3. เด็ก 6-12 ปี 4. เด็กและเยาวชน 5. หญิงตั้งครรภ์ 6. กลุ่มวัยทำงาน 7. ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 8. ผู้ป่วยเอดส์ 9. ผู้ป่วยจิตเวช 10. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 11. ผู้ด้อยโอกาส 12. คนพิการ และ 13. ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ร่วมกันสรุปบทเรียนและประสบการณ์จากการดำเนินงานทั้ง 13 กลุ่มประชากร ประมวลผลร่วมกับข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการงานที่สามารถปรับใช้ได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ของสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ " สสส.มีเครือข่ายสุดยอดผู้นำกว่า 10,000 คน จาก 2,000 ตำบล เพื่อคัดเลือกคนต้นแบบ เป็นนักรณรงค์ที่มีพฤติกรรม ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเหล้า เป็นผู้รอบรู้ทางด้านสุขภาพ และเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในชุมชน โดยการคัดเลือกสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้น ประเมินโดยคนในชุมชน ตัวแทนกรรมการบริหารแผนประเมิน โดยข้อมูลจะต้องสอดคล้องกับศูนย์สนับสนุนวิชาการ จากนั้นจะมีการสัมภาษณ์ผู้นำที่ถูกเสนอชื่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่ผ่านมาผู้นำชุมชนท้องถิ่นร้อยละ 90 ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ข้ามพื้นที่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปิดเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่น เข้าใจในระดับนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ต่อเวทีสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น สสส.รณรงค์งดเหล้า บุหรี่ บุคคลที่เป็นสุดยอดผู้นำจะต้องหยิบเรื่องพักตับเข้ามาอยู่ในกลยุทธ์ เป็นนักรณรงค์ มีจิตอาสา และสร้างคนต้นแบบในการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ เป็นต้น" นางสาวดวงพร กล่าว ทั้งนี้ เวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระสร้างสุขภาวะ13 กลุ่มประชากร (Community Key Actors Summit: Enhancing Population Health) ในปีที่ 2 ได้มีการคัดเลือกสุดยอดผู้นำชุมชนระดับท้องถิ่นปีนี้จำนวน 250 คนเพื่อเข้ารับใบประกาศนียบัตร จากประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พร้อมประกาศสัตยาบันร่วมกันที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นกำลังสำคัญของชุมชนท้องถิ่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ