กรม สบส.เร่งยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำบ้าน จำนวน 80,000 คน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 2, 2019 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เร่งยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจำบ้าน เพิ่มทักษะความรู้ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ เพื่อยกระดับระบบบริการสุขภาพ การบริการด้านสาธารณสุข และลดความแออัดของโรงพยาบาล เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน รุ่นแรก 80,000 คน นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เผยว่า กรม สบส.เร่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาและยกระดับ อสม.ให้เป็นหมอประจำบ้าน ให้สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน โดยได้จัดทำหลักสูตร อสม.หมอประจำบ้าน เพื่อพัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถของ อสม.ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำ ไร้รอยต่อ ลดการรอคอย และลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการให้ความรู้ด้านสมุนไพรและการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 62 นี้ หลักสูตร อสม.หมอประจำบ้าน ประกอบด้วย 6 วิชา ได้แก่ 1.วิชา อสค.และบทบาท อสม.หมอประจำบ้าน 2.วิชาการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมไม่ให้เกิดโรคในพื้นที่ 3.วิชาส่งเสริมสุขภาพและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 4.วิชาภูมิปัญญาไทย สมุนไพร และการใช้กัญชาทางการแพทย์ 5.วิชาเทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ โทรเวชกรรม และแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพ และ6.การเป็นผู้นำการสร้างสุขภาพแบบมีส่วนร่วม นพ.ณัฐวุฒิ อธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า อสม.หมอประจำบ้าน ที่ผ่านการอบรมแล้วจะต้องมีหน้าที่ คือ สนับสนุนให้มี อสค.ทุกครอบครัวทั้งในกลุ่มที่มีผู้ป่วย ติดบ้านติดเตียง กลุ่มภาวะพึ่งพิวและกลุ่มครบอครัวทั่วไปในละแวกบ้านของ อสม. หมอประจำบ้าน เป็นพี่เลี้ยงให้ อสค.ดูแลสุขภาพ เฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคในพื้นที่ ลดโรคเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต อุบัติเหตุ ใช้เครื่องมือสื่อสาร และเป็นการแกนในการดูแลสุขภาพ เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดี แข็งแรง พึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรม สบส.จะทำการฝึกอบรมครู ก. จังหวัดละ 5 คน ครู.ข. อำเภอละ 2 คน เพื่อให้เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้สู่ อสม. หลังจากนั้นก็จะเริ่มอบรม อสม. จำนวน 80,000 คน ใช้ระยะเวลาการอบรม 18 ชม. และมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานในทุก 6 เดือน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ