ฟิทช์: เศรษฐกิจและภาคธนาคารไทยน่าจะปรับตัวได้ดีกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 2, 2019 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ในงานสัมมนาประจำปีเรื่องความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ นักวิเคราะห์อันดับเครดิตประเทศและนักวิเคราะห์อันดับเครดิตธนาคารของฟิทช์ กล่าวว่า ปัจจัยเพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศในหลายประเทศ ในขณะที่ภาคการธนาคารของไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ในระดับที่น้อยกว่าธนาคารอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์ งานสัมมนาประจำปีของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปีนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานของรัฐ นักลงทุน และผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและภาคการเงิน เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน โดยในงานสัมมนาดังกล่าว ฟิทช์ได้รับเกียรติจาก ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กล่าวเปิดงาน คุณเจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB+ เป็น "แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก" เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นผลมาจากการที่ฟิทช์มีความมั่นใจมากขึ้นว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดความชะงักงันในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ผ่านอุปสรรคที่สำคัญทางการเมืองไปแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากพลเรือนได้สำเร็จหลังจากมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ประเทศไทยยังคงสามารถรักษาฐานะหนี้สินต่างประเทศ (external finance) และฐานะการคลังสาธารณะ (public finance) ให้อยู่ในระดับที่ดีได้ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ สถานการณ์การค้าโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น แม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกบรรเทาลงได้บางส่วน จากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ได้แก่ ความไม่แน่นอนในด้านนโยบาย โดยเฉพาะในด้านของผลกระทบต่อทิศทางการค้าโลก รวมถึงกำหนดการการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (UK's Brexit) ที่ใกล้เข้ามา ซึ่งอาจะส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) ของสหราชอาณาจักรและการชะลอตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ Euro Zone ทั้งนี้ ฟิทช์เชื่อว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อาจไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของปริมาณการค้าได้ทั้งหมด และรัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบายอาจต้องหันไปพึ่งพานโยบายการคลังแบบขยายตัว (accommodative fiscal policy) มากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีระดับหนี้สินที่อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว คุณพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีความพร้อมในด้านของการรับมือกับความผันผวนและในด้านการรองรับความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และธนาคารไทยน่าจะสามารถเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนหรือการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารไทยในระยะสั้น อาจถูกจำกัดด้วยความท้าทายจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้การชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีนน่าจะส่งผลกระทบในระดับที่สูงกว่าต่อตลาดที่พัฒนาแล้ว (developed market) เช่น ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันภาคการธนาคารที่มีความเสี่ยงสูงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ประเทศในตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศในตลาดที่กำลังพัฒนาได้แก่ ประเทศมาเลเซีย คุณเมอร์วิน แทง ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าทีมวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ฝ่ายการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable finance) ของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (environmental, social and corporate governance หรือ ESG) ในภูมิภาคต่างๆ โดยปัจจัยด้าน ESG อาจส่งผลกระทบในระดับหนึ่งต่ออันดับเครดิตของบริษัทประมาณร้อยละ 22% ของบริษัททั้งหมดที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในโลก และมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มบริษัทดังกล่าวได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านธรรมาภิบาล อันดับเครดิตของบริษัทในกลุ่มตลาดที่กำลังพัฒนามักจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านธรรมาภิบาลมากกว่า ในขณะที่ปัจจัยในด้านความโปร่งใสทางการเงิน (financial transparency) และโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ (governance structure) โดยเฉพาะในด้านความเสี่ยงในการพึ่งพาผู้บริหารรายบุคคล (key man risk) ด้านสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (concentration ownership) และความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริษัท (board independency) เป็นปัจจัยที่พบได้มากในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในทางกลับกันปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้วมากกว่าในกลุ่มตลาดที่กำลังพัฒนา เนื่องจากตลาดพัฒนาแล้วมีกฎระเบียบและข้อบังคับที่เข้มงวดกว่า รวมถึงมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าในกรณีที่มีการฝ่าฝืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ