กทม. ลงนาม “บันทึกความร่วมมือจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค” ร่วมกับ ม.หอการค้าไทย และเครือเบทาโกร

ข่าวทั่วไป Tuesday February 26, 2008 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--กทม.
3 หน่วยงานใหญ่จับมือพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพเนื้อสัตว์ แก้ไขปัญหาโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ให้ผู้บริโภคมั่นใจทุกขั้นตอนการผลิตเพราะสามารถตรวจสอบที่มาและแหล่งผลิตผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้
ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ ม.หอการค้าไทย และกรุงเทพมหานคร กับเครือเบทาโกร ภายใต้โครงการ “การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” โดยมีนายสมภพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักอนามัย รองศาสตราจารย์ ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี ม.หอการค้าไทย นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องเอราวัณ ศาลาว่าการกทม.
กรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการ “การจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” โดยร่วมกับ ม.หอการค้าไทย และเครือเบทาโกร ในการจัดทำและพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ได้ผ่านการรับรองแหล่งที่มา โดยผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานในด้านการผลิตเนื้อสัตว์ การขนส่ง และการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่กำหนดไว้ และเมื่อตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวแล้ว กรุงเทพมหานครจะมอบตราสัญลักษณ์เนื้อสัตว์คุณภาพให้กับผู้ประกอบการนำไปติดบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผ่านการรับรองดังกล่าวจะสามารถทราบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ โดยนำรหัสสินค้าไปตรวจสอบข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ที่ http://trace.utcc.ac.th
สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรุงเทพมหานคร และ ม.หอการค้าไทย เพื่อจัดทำโปรแกรมตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ต้นแบบให้กับกรุงเทพมหานคร และบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรุงเทพมหานคร และเครือเบทาโกร เพื่อเข้าร่วมเป็นโครงการนำร่องระหว่างผู้ประกอบการเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กรุงเทพมหานครได้ออกการรับรองคุณภาพเนื้อสัตว์ว่ามาจากแหล่งผลิตได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมถึงการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิตเข้าสู่โปรแกรม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการผลิต
อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ว่าได้มาจากฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐานปลอดภัยหรือผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่มีกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการบริโภค และเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้พัฒนามาตรฐานการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ