นอนกรน ส่งผลอย่างไร? กับสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday October 17, 2019 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง อาการนอนกรนเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ขณะที่เรานอนหลับสนิทนั้น กล้ามเนื้อในช่องปากจะผ่อนคลายแล้วหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ และเนื่องจากช่องลมถูกปิดกั้นจนเล็กลง จึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น อาการนอนกรนมีความสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งจะมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ การนอนกรนจึงทำให้คุณภาพการนอนไม่ดีหลับไม่ต่อเนื่อง เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่น ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย สมาธิความจำไม่ดี การเผาผลาญอาหารแย่ลง ทำให้เกิดโรคอ้วนหรือเบาหวานได้ การนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมอง หลอดเลือดหัวใจ และยังทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง ส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ เป็นโรคภูมิแพ้บริเวณโพรงจมูก จมูกเบี้ยวหรือคด คางผิดปกติ ต่อมทอนซิลโต ทานยาที่ทำให้ง่วง ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอร์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ มีความเสี่ยงสูงที่จะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่านอนกรนเสียงดังมากจนรบกวนผู้อื่น หรือนอนกรนสลับกับหยุดหายใจเป็นช่วงๆ สะดุ้งเฮือกเพื่อหาอากาศหายใจโดยไม่รู้สึกตัว หรือมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ไม่สดชื่นในตอนเช้า เวียนศีรษะ ง่วงมากผิดปกติในตอนกลางวัน ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา การรักษาอาการนอนกรนสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบและความรุนแรง เช่น การรักษาภาวะภูมิแพ้ การปรับท่านอน ลดน้ำหนัก ไปจนถึงการรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น การใช้พลังจากคลื่นวิทยุกระชับเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากและคอที่หย่อนตัว หรือการผ่าตัดรักษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ