ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย รณรงค์ให้รู้จักป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน เนื่องในวันกระดูกพรุนโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday October 22, 2019 08:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--คอร์แอนด์พีค สถิติโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในอันดับที่ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด เป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพก ซึ่งผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะมีอัตราการเสียชีวิตในปีแรกร้อยละ 17% และสัดส่วน 80% ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม รวมทั้งจากข้อมูลมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ พบว่าประชากรไทยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน 80 - 90% ยังไม่ได้รับการประเมินและรักษา เนื่องในวันกระดูกพรุนโลก วันที่ 20 ตุลาคม 2562 ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย (The Royal College of Orthopaedic Surgeons of Thailand = RCOST) ร่วมกับบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมรณรงค์ให้ผู้สูงอายุทุกคนตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน และปรึกษาแพทย์หากพบว่าตนมีความเสี่ยง โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.อารี ตนาวลี ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, พันเอก รศ.นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ ประธานจัดงานประชุมวิชาการประจำปีราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41, รศ.นพ.สัตยา โรจนเสถียร ประธานอนุสาขาโรคกระดูกพรุน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์, ศ.นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระมงกฏเกล้า, รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ ผู้เขี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเภสัชกรหญิง ภัทรพร วิมลวัตรเวที ผู้จัดการ บริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) เข้าร่วมงาน ศ.นพ.อารี ตนาวลี ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคกระดูกพรุน คือภาวะที่ร่างกายมีความแข็งแกร่งของกระดูกลดน้อยลง ส่งผลให้กระดูกหักเกิดง่ายขึ้น ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ เมื่อผู้ป่วยหกล้มจะมีความเสี่ยงกระดูกหักง่าย ไม่ว่าจะเป็นการหกล้มในท่ายืนจากชีวิตประจำวัน หรือบางรายอาจจะมีกระดูกสันหลังยุบจากการที่นั่งกระแทกก้นแรง หรือยกของหนักที่เฉียบพลันเกินไป โดยรวมภาวะกระดูกหักจากสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เราเรียกว่า ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน เนื่องในวันกระดูกพรุนโลก วันที่ 20 ตุลาคม 2562 ทางราชวิทยาลัยฯ ในกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคกระดูกพรุน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปให้รู้จักโรคกระดูกพรุน และแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้เข้ารับการประเมินและตรวจรักษาอย่างเหมะสม ในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ที่เข้าใจง่าย พันเอก รศ.นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ ประธานจัดงานประชุมวิชาการประจำปีราชวิทยาลัย แพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 กล่าวว่า งานประชุมวิชาการของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งวันนี้ตรงกับวันกระดูกพรุนโลก ทางราชวิทยาลัยฯ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการกระดูกหักจากโรคกระดูกกระพรุน รศ.นพ.สัตยา โรจนเสถียร ประธานอนุสาขาโรคกระดูกพรุน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วพบว่า ตำแหน่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักมากและบ่อยคือ กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ กระดูกซี่โครง กระดูกต้นแขน กระดูกสันหลัง ซึ่งอาการของการเกิดกระดูกหักมักสัมพันธ์กับการล้ม และแม้คนไข้จะล้มแบบธรรมดาครั้งเดียว หรือล้มแบบเบา ๆ คนไข้ก็สามารถที่จะมีสะโพกหักได้ ศ.นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนเมื่อเป็นแล้ว ผลที่ตามมาคือจะมีกระดูกหัก และพบบ่อยที่สุดคือช่วงกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังยุบ และกระดูกสันหลังหักพบถึง 50% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน อาการแสดงที่สังเกตง่าย ๆ คือ ตัวเตี้ยลงมากกว่า 4 เซนติเมตร หลังโก่ง และหลังโค้ง ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพระมงกฏเกล้า กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคกระดูกพรุนคือ การเกิดกระดูกหักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความทรมานและเดือดร้อนไปถึงผู้ดูแล รวมทั้งเกิดโรคแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น แผลกดทับ โรคปอดบวม โรคแทรกซ้อนทางหัวใจ หลอดเลือดต่าง ๆ ซึ่งสามารถเกิดตามมาได้ และถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาผ่าตัดเสร็จแล้ว อาจจะตามมาด้วยการไม่สามารถใช้ชีวิตได้ 100 % หรืออาจจะเกิดความพิการขึ้นได้ หรืออาจจะมีอันตรายถึงกับชีวิตได้ด้วย รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ ผู้เขี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การป้องกันโรคกระดูกพรุน คนไข้สามารถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กได้ โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม หมั่นออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน ควรมาพบแพทย์ ส่วนผู้ที่ตรวจพบแล้วว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา และการปฎิบัติตัวที่เหมาะสม เภสัชกรหญิง ภัทรพร วิมลวัตรเวที ผู้จัดการ บริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทแอมเจนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ให้ความรู้กระดูกพรุนสู่ประชาชน เนื่องในวันกระดูกพรุนโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ