คุณภาพรถยนต์ใหม่ลดลง จากปัญหาเสียงรบกวนของรถยนต์ที่มากขึ้น ผลการศึกษาวิจัยจาก เจ.ดี. พาวเวอร์

ข่าวยานยนต์ Thursday October 24, 2019 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--เจ.ดี. พาวเวอร์ โตโยต้า, ฮอนด้า, มาสด้า, เอ็มจี และฟอร์ด ต่างคว้ารางวัลคุณภาพรถยนต์ใหม่ในแต่ละกลุ่มประเภทรถยนต์ ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2562 โดย เจ.ดี. พาวเวอร์ (J.D. Power 2019 Thailand Initial Quality StudySM (IQS)) เปิดเผยในวันนี้ว่า เจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยประสบปัญหาจากการใช้รถยนต์คันใหม่ของพวกเขาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งปัญหาจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการออกแบบและจากความผิดพลาดในการผลิต คุณภาพรถยนต์ใหม่วัดจากจำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ใหม่ 100 คัน (PP100) ในช่วง 2 ถึง 6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนน PP100 ต่ำกว่า แสดงว่ารถรุ่นนั้นมีคุณภาพที่สูงกว่า ในการศึกษาปีนี้ คะแนนเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 81 PP100 จาก 70 PP100 ในปีที่ผ่านมา โดยปัญหาต่างๆ ที่พบใกล้เคียงกันระหว่างปัญหาด้านการออกแบบ (38 PP100) และปัญหาจากความผิดพลาดในการผลิต (37 PP100) โดยรวมแล้ว ปัญหาเสียงรบกวนต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 24% (19.6 PP100 โดยรวม) ของปัญหาทั้งหมดที่พบในปีนี้และเป็นปัญหาที่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่พบมากที่สุด ซึ่งปัญหาเสียงรบกวนนี้หมายรวมถึงปัญหาเสียงลมและเสียงบดถนนดังมากเกินไป (8.0 และ 1.5 PP100 ตามลำดับ) และปัญหาเสียงรบกวน, เสียงกอกแกก และเสียงผิดปกติอื่นๆ ภายในรถยนต์ (3.6 PP100 โดยรวม) สำหรับกลุ่มปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่ พบปัญหาสูงสุดจากเสียงผิดปกติจากช่วงล่างและเบรกมีเสียงดัง (1.5 และ 1.0 PP100 ตามลำดับ) ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเสียง ได้แก่ เครื่องยนต์และเกียร์มีเสียงผิดปกติ (1.5 PP100) และปัญหาเบาะที่นั่งมีเสียงรบกวน, เสียงกอกแกก หรือมีเสียงผิดปกติ (1.4 PP100) "ฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และฝ่ายผลิตของบริษัทรถยนต์จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเสียงรบกวนจากส่วนต่างๆ ของรถยนต์" ศิรส สาตราภัย ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทยและประเทศเวียดนาม กล่าว "ลูกค้าในปัจจุบันมีความรู้สึกที่ไวต่อเสียงรบกวนที่มาจากส่วนต่างๆ ของตัวรถ แบรนด์รถยนต์ต้องสามารถที่จะวิเคราะห์และระบุถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแม่นยำ เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ทางด้านคุณภาพโดยรวมของแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น" ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจประจำปี 2562: - ปัญหาภายในรถยนต์ได้รับการรายงานมากที่สุด: กลุ่มปัญหาภายในรถยนต์พบมากที่สุดถึง 20.2 PP100 (เพิ่มขึ้น 8.0 PP100 จากปี 2561) หนึ่งในปัญหาหลัก คือ ที่วางแก้วใช้งานยาก (4.2 PP100) และมีเสียงดัง (1.3 PP100) นอกจากนี้ ลูกค้ายังระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับช่องเก็บของด้านหน้า (ใช้งานยาก, 2.6 PP100) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 0.1 PP100 ในปี 2561 - ด้านเครื่องเสียง, ระบบความบันเทิง และระบบนำทางได้รับการปรับปรุงในหลายๆ ด้าน: ลูกค้ารายงานถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบข้อมูลและความบันเทิงในรถยนต์ลดน้อยลง (9.2 PP100 ซึ่งดีขึ้น 3.9 PP100 จากปีก่อนหน้า) ทว่าปัญหาการรับสัญญาณวิทยุยังคงเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น 4.6 PP100 จากปีที่แล้ว - จำเป็นต้องปรับปรุงปัญหากลิ่นภายในตัวรถ: กลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในห้องโดยสารยังคงเป็นปัญหาที่พบสำหรับลูกค้า และเป็นหนึ่งใน 5 ปัญหาแรกที่ยังพบจากการสำรวจในปีนี้ ผลการจัดลำดับจากการศึกษาวิจัย - โตโยต้า ยาริส ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก (62 PP100) - ฮอนด้า แจ๊ส ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (65 PP100) - มาสด้า3 ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง (76 PP100) - เอ็มจี แซดเอส ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก (68 PP100) - โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ (74 PP100) - โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ สมาร์ท แค๊ป ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะตอนขยาย (79 PP100) - ฟอร์ด เรนเจอร์ ไฮ-ไรเดอร์ ดี-แค๊ป ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู (73 PP100) การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ 2 กลุ่มปัญหาหลักที่เจ้าของรถยนต์ใหม่ประสบ ได้แก่ กลุ่มปัญหาด้านการออกแบบ และกลุ่มปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดในการผลิต การศึกษานี้ได้เจาะถามถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 8 หมวดหมู่ ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์; ปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่; ปัญหาจากอุปกรณ์/ปุ่มควบคุม/จอแสดงผล; ปัญหาเครื่องเสียง/ระบบสื่อสาร/ระบบความบันเทิง/ระบบนำทาง; ปัญหาจากเบาะที่นั่ง; ปัญหาจากระบบทำความร้อน/ระบบระบายอากาศ/ระบบความเย็น; ปัญหาภายในห้องโดยสาร และปัญหาเครื่องยนต์/ระบบเกียร์ ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย (IQS) ประจำปี 2562 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถยนต์คันใหม่ 6,632 รายที่ซื้อรถยนต์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 66 รุ่น จากทั้งหมด 10 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนสิงหาคม 2562

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ