ข้อเสนอเพื่อแปรญัตติวาระสองงบประมาณปี 2563

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 24, 2019 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ขอให้รัฐสภาพิจารณาแปรญัตติงบปี 63 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย รับมือกับความยากลำบากของประชาชนฐานราก ภาวะเลิกจ้างและการลดลงของรายได้ จัดสรรงบใหม่เพื่อตอบโจทย์ปัญหาความท้าทายระยะยาวของประเทศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการจัดสรรงบประมาณในอนาคตเพิ่มขึ้น เสนอกรรมาธิการงบประมาณปรับยุทธศาสตร์งบประมาณปี 2563 ใหม่ เพิ่มงบในส่วนยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาค ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถการแข่งขัน ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และปรับลดงบความมั่นคงและปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริการจัดการภาครัฐ เพิ่มงบในส่วนแผนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เสนอกรรมาธิการงบประมาณแปรญัติติวาระสอง ตัดลดงบความมั่นคง งบกลาง เพิ่มงบสาธารณสุข การศึกษา การวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพิ่มงบกระทรวงแรงงาน พาณิชย์ อุตสาหกรรม และการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 15.30 น. 20 ต.ค. 2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ขอให้รัฐสภาพิจารณาแปรญัตติงบปี 63 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย รับมือกับความยากลำบากของประชาชนฐานราก ภาวะเลิกจ้างและการลดลงของรายได้ จัดสรรงบใหม่เพื่อตอบโจทย์ปัญหาความท้าทายระยะยาวของประเทศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการจัดสรรงบประมาณในอนาคตเพิ่มขึ้น โครงสร้างสังคมผู้สูงวัยจะส่งผลต่อความต้องการบริการของภาครัฐโดยเฉพาะทางด้านสวัสดิการต่างๆและสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะยิ่งลดลงเพราะจะมีประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2563 นั้น รัฐบาลมีรายได้พิเศษจากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรคมนาคมประมาณ 4, 484 ล้านบาท จึงช่วยลดแรงกดดันทางด้านรายได้ได้บ้าง เสนอกรรมาธิการงบประมาณควรปรับการจัดสรรเม็ดเงินตามยุทธศาสตร์งบประมาณปี 2563 ใหม่ รัฐบาลและรัฐสภาควรให้ความสนใจกับโครงการหรือแผนงานที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์หลากหลายด้าน เช่น การลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น ความเสมอภาคและคุณภาพชีวิตดีขึ้นไปด้วย พลเมืองคุณภาพดีขึ้น คุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพประชาธิปไตยก็จะดีขึ้นด้วย ควรเพิ่มงบในส่วนยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาค ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถการแข่งขัน ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยสามารถปรับเพิ่มงบประมาณตามยุทธศาสตร์ที่กล่าวมา แม้นว่า ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคได้รับการจัดสรรงบเพิ่มมากที่สุดแต่ไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์เนื่องจากเป็นเรื่องของการจัดหมวดหมู่ใหม่เป็นส่วนใหญ่ และปรับลดงบความมั่นคงซึ่งสามารถปรับลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 20-30% โดยไม่กระทบต่อการการปฏิบัติงานตามพันธกิจเลย เพิ่มงบในส่วนแผนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เสนอกรรมาธิการงบประมาณแปรญัติติวาระสองควรตัดลดงบความมั่นคง งบกลาง เพิ่มงบสาธารณสุข การศึกษา การวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพิ่มงบกระทรวงแรงงาน พาณิชย์ อุตสาหกรรม และการลงทุนบริหารจัดการน้ำ หากไม่ตัดลดในส่วนที่มีความจำเป็นน้อยกว่ามาเกลี่ยให้กับภารกิจที่จำเป็นมากกว่าและใส่เม็ดเงินไปที่กิจกรรมการลงทุนหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ที่ค่าเฉลี่ย 3% สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจทะลุเพดานขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 67-70% ได้ในปี พ.ศ. 2570 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า งบกลางในส่วนของค่าใช้จ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินสามารถตัดลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทและภัยพิบัติบางส่วนมักเกิดขึ้นซ้ำๆทุกปี การเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรับมือจะลดความเดือดร้อนประชาชนและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทักษะเพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ส่วนการส่งเสริมการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมนั้นควรกระจายงบประมาณไปให้สถาบันวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆมากกว่าที่จะนำงบมารวมศูนย์ไว้ที่กองทุนนวัตกรรม นอกจากนี้ งบประมาณที่จัดสรรเป็นทุนหมุนเวียนไปยัง กองทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือแห่งชาติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนจัดรูปที่ดิน กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องมีการทำรายละเอียดแผนงานให้ชัดเจนและตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร ส่วนกองทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลควรพิจารณาด้วยว่าบางกองทุนยังมีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่มีความจำเป็นควรยุบเลิกและนำทรัพยากรและงบประมาณไปพัฒนาประเทศจะทำให้การใช้เม็ดเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางกองทุนนั้นถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำภารกิจชั่วคราวสนองความต้องการของฝ่ายการเมือง และ ควรจัดสรรงบให้กับ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ กองทุนหมุนเวียนเพื่อเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งงบประมาณปี 2563 ไม่ได้รับการจัดสรรเลย นอกจากนี้ควรจัดสรรงบเพิ่มเติมให้องค์กรภายใต้รัฐสภา กกต และสถาบันตุลาการ รวมทั้ง การกระจายงบประมาณไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่ต่างๆให้เพียงพอ และ ลดการจัดสรรงบที่กระจุกตัวไว้ที่ส่วนกลางเพราะจะทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหาหรือเบิกจ่าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ