เอ็นไอเอ ชวนวาร์ปส่องอนาคตความแรงสื่อกับโอกาสเติบโตของนวัตกรรมสื่อ พร้อมแนวทางรับมือ “เฟคนิวส์” สกัดอย่างไร ไม่ให้คนหลงกล

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 1, 2019 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ อีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญในระดับโลกสำหรับการเข้ามาของระบบ 5G ที่ในปีหน้านี้หลายๆ ประเทศกำลังจะได้ทดลอง และสัมผัสกันอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งระบบดังกล่าวว่ากันว่าจะมีความรวดเร็วกว่าระบบเดิมอย่าง 4G มากขึ้นถึง 10 เท่า และเมื่อเข้ามาแทนที่ของเก่าแล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าโลกโซเชียลและการเชื่อมต่อแบบไร้พรหมแดนของทุกคนจะมีความรวดเร็ว ฉับไว ทันใจยิ่งกว่ากระพริบตา และยังจะนำมาซึ่งประสบการณ์ใหม่ๆ ในแบบที่ทุกคนไม่เคยได้เจอมาก่อนอย่างแน่นอน เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดกิจกรรม Innovation Thailand Expo 2019 หรือ ITE 2019 ภายใต้แนวคิด "Social Innovation in the City" เพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง พร้อมด้วยเวทีถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยหนึ่งในหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจคือ "Fake News & Future Media การรับมือกับเฟคนิวส์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสื่อในอนาคต" ซึ่งเป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มเทคโนโลยีในยุคที่ Internet of things or Smart devices เชื่อมต่อแทบทุกอย่างบนโลกไว้ด้วยกัน ส่งผลกระทบโดยตรงกับการพัฒานวัตกรรมด้านสื่อ พร้อมทั้งแนวทางการรับมือกับ Fake News ที่มาพร้อมกับความเร็วในยุคอินเทอร์เน็ตแบบ 5G ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความรวดเร็วขึ้น จะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเทคโนโลยีต่างๆ หรือการสั่งการผ่านระบบปฏิบัติการจะมีความหน่วงเวลาหรือมีความใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด เช่น การสั่งงานอุปกรณ์จากระยะไกลที่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ทันที หรือแม้แต่การรับข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ของประชาชนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ส่งผลให้โลกออนไลน์เชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแน่นอนว่าประสิทธิภาพของเครือข่ายไร้สายที่หลากหลายองค์กรกำลังพัฒนาให้รวดเร็วนั้น จะเป็นการสร้างทั้งโอกาสและผลกระทบแก่สื่อต่างๆ ซึ่งหากมองในแง่การสร้างโอกาสจะส่งผลให้การทำงานของสื่อในอนาคตได้รับโอกาสคือ 1. สะดวก รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยให้การรายงานสถานการณ์มีความฉับไว และเกิดการแข่งขันในด้านดังกล่าวมากยิ่งขึ้น 2. เข้าถึงทุกคน ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากที่สามารถรับคนได้ราว 1 แสนคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. กลายเป็น 1 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. 3.ช่วยเพิ่มคุณภาพของการรับสาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอ เสียง จะมีความคมชัดและเสมือนจริงมากอีกหลายเท่าตัว 4. ตอบสนองต่อผู้ใช้งานมากขึ้นในทุกกิจกรรม โดยทุกคนนั้นจะสามารถทำงาน และเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างที่อยู่บน Cloud ไม่ว่าจะรูปแบบภาพ หรือวิดีโอ ได้แบบทันทีที่ต้องการ รวมถึงความเร็วในการดาวน์โหลดและอัพโหลดที่สูงกว่าเทคโนโลยี 4G 5.เป็นแหล่งสร้างรายได้ เพราะมีความประหยัด และมีประสิทธิภาพสูง โดยจะได้เห็นผู้คนผันตัวมาทำคอนเทนท์ที่ให้สาระและความบันเทิงมากยิ่งขึ้น 6. รองรับการเชื่อมต่อที่มากกว่าอุปกรณ์สื่อสาร เช่น การนำไปใช้ในระบบรถยนต์ การขนส่ง การสำรวจภาคสนาม และ 7. เก็บข้อมูลทุกอย่างได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสื่อต่างๆจะสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้รับสารได้ทุกอุปกรณ์ และนำมาพัฒนาคอนเทนท์ได้อย่างสร้างสรรค์และตรงกับกลุ่มของผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความรวดเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตที่มีความรุดหน้านั้น ยังจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด "Media Innovation" หรือการยกระดับนวัตกรรมขึ้นในอุตสาหกรรมสื่อ ผ่านการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีสื่อรูปแบบใหม่ หรือต่อยอดเทคโนโลยีสื่อเดิม และการพัฒนาเนื้อหาสื่อสารรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ทัศนคติของผู้ส่งและผู้รับสาร รวมถึงการเกิดนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างให้เกิดสื่อที่มีมูลค่าสูง เนื้อหารูปแบบใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ แปลกใหม่ สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมสื่อ รวมถึงผลักให้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการเกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ที่ชื่อว่า MARTech (มาร์เทค) หรือกลุ่มธุรกิจดนตรี (Music) ศิลปะ (Art) และนันทนาการ (Recreation) เช่น มิวสิคสตรีมมิ่ง วิดีโอคอนเทนต์ โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ออนไลน์เกม โดยอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพในการเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงถึง 478,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตถึง 6.5% หรือกว่า 500,000 ล้านบาท ใน ปี 2022 ซึ่งการเติบโตของ MARTech ยังจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงดนตรี การส่งออกสินค้าทางความคิดสร้างสรรค์ โดยประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในด้านดังกล่าว เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ด้าน พ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กล่าวว่า ความรวดเร็วที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของระบบ 5G นั้น ยังส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการนำเสนอข่าว การเผยแพร่ข้อมูล หรือแม้แต่การเก็บรักษาความเป็นส่วนตัว เนื่องจากในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอยู่ในระบบออนไลน์เป็นจำนวนมากทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว มีข้อมูลข่าวสารให้เลือกอ่านได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งผลที่ตามมาคือความรวดเร็วนั้นจะส่งผลให้การกลั่นกรองข้อมูลลดน้อยลงไป เพราะสื่อเองก็ต้องการนำเสนอข่าวที่รวดเร็วสนองความต้องการของผู้รับ ประชาชนทั่วไปก็ต้องการเข้าถึงข้อมูลแบบเร่งด่วน จึงกลายเป็นที่มาของการสร้างข่าวปลอมหรือที่คุ้นหูกันดีว่า Fake News (เฟคนิวส์) นอกจากนี้ ยังนำมาซึ่งผลกระทบอื่นๆอีก ได้แก่ 1. การรั่วไหลของข้อมูล โดยเฉพาะการถูกแฮ็กความลับส่วนบุคลหรือขององค์กร 2. เกิดพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง (Cyber Bullying) โดยเฉพาะในรูปแบบของข้อความและรูปภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดความเกลียดชังและนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม 3. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคข่าวสาร ทั้งขาดการวิเคราะห์ข้อมูล เกิดความความเชื่อในรูปแบบที่ผิด การโพสต์ข้อมูลโดยขาดการกลั่นกรอง เกิดความใจร้อนหรือหัวรุนแรงจากการยุยงปลุกปั่นด้วยข้อความ 4. การสร้างโปรแกรมหรือช่องทางเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ และ 5. ลดทอนความสัมพันธ์ เนื่องจากความกว้างไกลของโซเชียลมีเดียที่เชื่อมต่อผู้คนได้ทั่วโลก และความเห็นต่างจากการนำเสนอข้อมูลต่างๆของสื่อ และอาจทำให้ผู้คนพูดคุยกันในชีวิตน้อยลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผลกระทบที่ตามมามากมายจากความรวดเร็วของระบบอินเทอร์เน็ต และการพัฒนาที่ก้าวล้ำของผู้ให้บริการโซเชียล แต่เรื่องดังกล่าวก็ใช่ว่าจะยากต่อการป้องกันหรือรับมือ โดยแนวทางที่สำคัญนั้นต้องเริ่มจากตัวของผู้ให้บริการเอง ที่จะต้องมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อการให้บริการไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอความจริง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการผลิตคอนเทนท์ที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม ลำดับต่อมาคือ การมีกฎระเบียบควบคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดขอบเขตที่พอดีสำหรับการนำเสนอและบริโภคข่าวสาร และไม่ใช้สิทธิเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวมากเกินความจำเป็น ส่วนอีกแนวทางที่สำคัญก็คือ การสร้างความรู้ที่เท่าทันสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นและระดับความน่าเชื่อถือของสื่อ การจำแนกประเภทของโซเชียลมีเดียที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล หรือแม้แต่กระทั่งการสร้างแพลตฟอร์ม เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือข่าวได้ เป็นต้น พ.ต.ท.พัฒนะ กล่าวสรุป สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ