ม.ทักษิณ รับมอบเงิน "กองทุนนักศึกษาเพื่อสังคม" พร้อมร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพลังนิสิตจิตอาสาขับเคลื่อนสังคมไทย

ข่าวทั่วไป Friday November 22, 2019 08:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิต สงขลา และอาจารย์ ดร.สุชาติ สุขสถิตย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิตพัทลุง พร้อมด้วยบุคลากรและนิสิต ร่วมรับมอบทุนจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และรองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ เพื่อเป็นกองทุนตั้งต้นสำหรับการดำเนินกิจกรรมภายใต้ "กองทุนนักศึกษาเพื่อสังคม" ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดปาฐกถาพิเศษนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ "อุดมคติที่เป็นไปได้ ความหวัง ความฝัน เพื่อสร้างสังคมใหม่" ในโอกาสที่ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารและพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ บุคลากรและนิสิต ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ในโอกาสที่ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารและพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประเด็น "อุดมคติที่เป็นไปได้ ความหวัง ความฝัน เพื่อสร้างสังคมใหม่" มีนิสิตและเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.),มูลนิธิภาคใต้สีเขียว , สมาคมรักษ์ทะเลไทย ,มูลนิธิอันดามัน ,มูลนิธิชุมชนไท,สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(ภาคใต้) ,สภาประชาชนภาคใต้ ,มูลนิธิชุมชนเมืองสงขลา โดยเปิดเวทีด้วยการแสดงของศิลปิน วงภูเล ตามด้วยการอ่านบทกวี โดย อาจารย์จรูญ หยูทอง นักวิชาการ/นักคิดนักเขียน และมีการเสวนา "ชีวิต - งานและการปฏิบัติบนพื้นที่ทางสังคม ของนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ" โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นางสาวละม้าย มานะสิการ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ นายวันชัย พุทธทอง นักข่าวอิสระ (สื่อเถื่อน) นายกิตติภพ สุทธิสว่าง นักพัฒนาเอกชน นางจันทิมา ชัยบุตรดี (มิเนาะ) กลุ่มอาหารปันรัก สงขลา ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายหลังเสร็จสิ้นจากเวทีเสวนา มีการอ่านบทกวี โดย อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ นักเขียน/นักแปล และการกล่าวแนะนำองค์ปาฐก (นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ) โดยนายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และรับฟังการปาฐกถาเรื่อง "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม-มหาวิทยาลัยกับการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ภาคใต้แห่งความสุขที่ยั่งยืน" โดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ความว่า "ผมมีอุดมคติ ผมมีความฝัน ผมมีความหวัง ชีวิตผมเดินทางมาบนเส้นทางสายอุดมคติตั้งแต่ที่ ผมเริ่มเข้าเรียนแพทย์ที่ จุฬา ฯ ผมเริ่มด้วยการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ผมพบว่า ผมไม่อาจพัฒนาอะไรชาวบ้านได้ ชาวบ้านเขาเก่งและเข้มแข็งมาก ผมได้แต่ไปเรียนรู้ และที่สำคัญผมเรียนรู้ว่าสังคมนั้นอยุติธรรมและเอารัดเอาเปรียบคนจนอย่างมากมาย จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ราว 30 ปีที่ผมเดินบนเส้นทางสายนี้ ผมผ่านอะไรมามากพอควร ผมเกือบถูกย้ายสองครั้ง ถูกฟ้องคดี 1 ครั้งกับเพื่อนแพทย์ชนบทและสู้จนชนะฎีกา ถูกทหารนำไปปรับทัศนคติ 1 ครั้ง ถูกเรียกคุยหลายหน แต่ในวิกฤต ผมมีชาวบ้านและเพื่อนผองน้องพี่คอยช่วยเหลือให้กำลังใจ เส้นทางการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมอุดมคตินั้น มีความยากลำบากแต่ก็สนุกและท้าทาย ความท้าทายยิ่งในปัจจุบันคือ เราจะยื่นหนังสือ ชูป้าย รณรงค์ ชุมนุมประท้วง เราสู้เช่นนี้กันมา 20 ปีแล้ว เราจะยังไหวกันอีกหรือ หรือเราควรจะมีแนวทางการต่อสู้และสร้างสังคมใหม่อย่างไร? ผมมองว่า นักศึกษาคือความหวังของอนาคต "ร้อยบาท ร้อยใจ เติมพลังคนหนุ่มสาวเพื่อสังคม" ในช่วงที่ผมได้ข่าวดีจากมหาวิทยาลัยทักษิณว่าผมได้รับ"ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตตมศักดิ์" สิ่งหนึ่งที่ผมคิดคือ ปริญญานี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือและการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ของภาคประชาสังคม ผมมีวันนี้ เพราะผมเริ่มชีวิตการเป็นนักกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษา เพราะฉะนั้นปริญญาที่ได้รับถือว่าเป็นปริญญาของพวกเราทุกคนที่ทุ่มเทและเสียสละทำเพื่อสังคมและชุมชนที่เราอยู่อาศัย" "ผมทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเริ่มเป็นนักศึกษา ออกค่ายอาสา ร่วมกิจกรรมรณรงค์ทางสังคม ลงเรียนรู้ชุมชน ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย จัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ทำสโมสรนักศึกษา เวลา 6 ปีที่ผมเรียนแพทย์ ได้หล่อหลอมสำนึกของผมอย่างไม่รู้ตัว และกลายเป็นตัวตนติดตัวยาวถึงปัจจุบัน การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยจึงต้องควบคู่การสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมผมและรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งก็เติบโตจากการเป็นนักกิจกรรมในสมัยเป็นนักศึกษาเช่นกัน รวมทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และอีกหลายๆท่าน จึงได้ร่วมกัน ตั้ง "กองทุนนักศึกษาเพื่อสังคม" ขึ้นเพื่อระดมทุนส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษา ปีนี้ เราจะลงเงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงขอเชิญชวนทุกท่านบริจาคคนละ 100 บาท เข้ากองทุน หากมีผู้ร่วมบริจาคสัก 10,000 คน ก็จะได้เงิน 1 ล้านบาทมาสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม บริจาคได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี "กองทุนนักศึกษาเพื่อสังคม" เลขที่บัญชี 879-0-344081 (บัญชีดังกล่าว เปิดระดมทุนภายใต้ มูลนิธิภาคใต้สีเขียว)" ภายหลังจากที่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ปาฐกถาเสร็จเรียบร้อยมีการมอบเงินบริจาค "ทุนส่งเสริมการศึกษาเพื่อสังคม" ให้แก่มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีรองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิตสงขลา และอาจารย์ ดร.สุชาติ สุขสถิตย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิตพัทลุง พร้อมด้วยบุคลากรและนิสิต ร่วมรับมอบทุนดังกล่าว หลังจากนั้นคุณปิยะโชติ อินทรนิวาส บรรณาธิการ และหัวหน้าศูนย์ข่าว ผู้จัดการออนไลน์ ภาคใต้ ได้มอบของที่ระลึกแก่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และอ่านบทกวีเชิดชูเกียรติปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีจากศิลปินวงกอและท่ามกลางบรรยากาศแบบพี่น้องผองเพื่อน และมวลมิตรสหาย สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจได้ตั้งกองทุนนักศึกษาเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมและเติมเต็ม กิจกรรมของนักศึกษาที่ตั้งใจทำกิจกรรมเพื่อสังคม มีการเปิดบัญชีรับบริจาคมาตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบันขณะนี้กองทุนมียอดเงินบริจาคกองทุนนักศึกษาเพื่อสังคม (ในมูลนิธิภาคใต้สีเขียว)จำนวน 80,000 บาท และคุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้บริจาคเงินส่วนตัวเพิ่มเติม 20,000 บาท รวมมีเงินในกองทุน 100,000 บาท เพื่อใช้เป็นเงินตั้งต้นสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณภายใต้แนวคิดที่ว่า "การบริจาคแบบนี้ได้มาเท่าไหร่ จะนำไปใช้กับกิจกรรมนักศึกษาได้ทุกบาททุกสตางค์ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ กิจกรรมนักศึกษาที่ว่าก็เช่น ให้นักศึกษาไปออกค่ายเรียนรู้ค่ายช่วยชาวบ้านจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำสื่อเพื่อช่วยขายสินค้าของชุมชนให้นักศึกษาจัดเวทีวิชาการรณรงค์ทางสังคม หรือจัดวงพูดคุยสร้างขบวนนักศึกษาเป็นต้น ทั้งนี้จะมีทีมของมูลนิธิภาคใต้สีเขียวและมหาวิทยาลัยทักษิณร่วมกันพิจารณาครับ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ