ขิงและส้มโอไทยถูกตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินปริมาณที่แคนาดากำหนด

ข่าวทั่วไป Friday February 29, 2008 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.พ.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออตตาวา ว่า หน่วยงาน Agrifood Division, Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ของแคนาดา ได้ตรวจพบสารตกค้างในขิงและส้มโอที่ส่งออกจากบริษัท 2 แห่งของไทย โดยขิงมีปริมาณสาร Benomyl ถึง 1.08 ppm และส้มโอมีสาร Dithiocarbamate ปริมาณ 0.51 ppm ซึ่งเกินปริมาณที่แคนาดากำหนด คือ 0.1 ppm ทำให้ CFIA จะดำเนินการสุ่มตรวจขิงและส้มโอที่ส่งออกจากบริษัทดังกล่าวต่อไป อีก 5 ล๊อต โดยที่การสุ่มตรวจนี้จะเป็นการดำเนินการตามระยะ surveillance phase ซึ่งอาจจะมีการกักกันไว้จนกว่าจะทราบผลจากห้องวิจัย และหากพบว่า ขิงและส้มโอทั้ง 5 ล๊อตดังกล่าวมีปริมาณสารตกค้างต่ำกว่ามาตรฐานที่แคนาดากำหนด CFIA จะจัดให้อยู่ในระยะ monitoring phase โดยจะดำเนินการเฉพาะกับผู้ส่งออกขิงและส้มโอ ที่ CFIA ตรวจพบสารตกค้างเท่านั้นอย่างไรก็ดี หากตรวจพบว่า มีสารตกค้างสูงกว่ามาตรฐานที่แคนาดากำหนด CFIA จะจัดให้ขิงและส้มโอไทยอยู่ในระยะ compliance phase
ปัจจุบัน แคนาดาได้ให้ความสำคัญต่อสารตกค้างในผักและผลไม้เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยหน่วยงาน CFIA ได้กำหนดโปรแกรมการสุ่มตัวอย่างการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้สดที่วางขายทั้งในประเทศและนำเข้า อย่างเข้มงวด โดยแบ่งการดำเนินการสุ่มตรวจออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- monitoring phase เป็นระยะการเก็บและรวบรวมข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่างตรวจสารเคมีที่ตกค้างในผักและผลไม้สด ซึ่งหากตรวจพบว่าสินค้าดังกล่าวมีระดับสารเคมีตกค้าง (Maximum Residue Limits :MRLs) เกินกว่าที่แคนาดากำหนด สินค้าดังกล่าวจะถูกจัดให้อยู่ในระยะ surveillance phase
- surveillance phase เป็นระยะที่ดำเนินการเพื่อชี้สาเหตุของปัญหาที่พบ โดยการสุ่มตรวจเพิ่มอีก 5 ล๊อต จากสินค้าของผู้ส่งออกเดิมที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างสูงกว่ามาตรฐานที่แคนาดากำหนดจากระยะ monitoring phase หากพบว่าการตรวจสอบสินค้าทั้ง 5 ล๊อตดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานที่แคนาดากำหนดสินค้าดังกล่าวจะถูกจัดให้กลับไปอยู่ในระยะ monitoring phase แต่หากตรวจพบสินค้าล๊อตใดล๊อตหนึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่แคนาดากำหนด สินค้าดังกล่าวจะถูดจัดอยู่ในระยะ compliance phase
- compliance phase เป็นระยะที่สินค้าของบริษัทดังกล่าวจะถูกนำออกจากตลาดและห้ามวางขาย จนกว่าผู้ส่งออกจะมีเอกสารรับรองการทดสอบสินค้าอย่างน้อย 5 ล๊อต จากห้องวิจัยที่ได้รับการยอมรับ ยื่นต่อ CFIA ก่อนส่งสินค้าไปแคนาดา ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และหากผลการทดสอบสินค้าอย่างน้อย 5 ล๊อต เป็นไปตามมาตรฐานที่แคนาดากำหนด สินค้าดังกล่าวจะถูกจัดให้อยู่ในระยะ monitoring phase ต่อไป
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตลาดแคนาดาเป็นตลาดส่งออกผักและผลไม้ที่สำคัญของไทย ในปี 2550 ไทยส่งออกผักและผลไม้ไปประเทศแคนาดา มีมูลค่า 286.21 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 8.1 เนื่องจากผลกระทบจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า และเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันการส่งออกผักและผลไม้ของไทยให้เพิ่มมากขึ้นผู้ส่งออกไทยจะต้องระมัดระวังคุณภาพสินค้าที่ส่งออกของไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสารตกค้างดังกล่าวต้องให้เป็นตามเกณฑ์ที่แคนาดากำหนด
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายการ MRLs ของแคนาดาได้จากเวบไซต์ www.hc-sc.gc.ca หัวข้อ Food and Drug Regulation —Table II ของ Division 15

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ