จิตเวชโคราช เปิดระบบ “การแพทย์จิตเวชทางไกล” เชื่อมต่อเรือนจำ!รักษาผู้ต้องขังป่วยจิตต่อเนื่อง ป้องกันทำผิดซ้ำ!!

ข่าวทั่วไป Monday November 25, 2019 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ชูสมาร์ทฮอสปิตอลบริการแบบไร้เขตแดน เปิดระบบการแพทย์จิตเวชทางไกล ตรวจรักษาผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตผ่านระบบวิดีโอคอล เพิ่มความปลอดภัย นำร่องที่เรือนจำกลางนครราชสีมาแห่งแรก เริ่ม 1 ธ.ค.2562 และดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชนหลังพ้นโทษ ป้องกันกระทำผิดซ้ำ ล่าสุดมีผู้ต้องขังป่วยจิตขึ้นทะเบียนรักษา 30 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท และซึมเศร้า พร้อมขยายผลเรือนจำทุกแห่งในจ.นครราชสีมาในระยะที่2 ภายในปีหน้า เช้าวันนี้(25 พฤศจิกายน 2562) ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จ.นครราชสีมา โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การใช้ระบบการแพทย์จิตเวชทางไกล หรือเทเล ซายไคตรี้ เมดดิซีน" (Tele psychiatry medicine) ดูแลผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตและป่วยทางจิต ร่วมกัน 3 หน่วยงาน ประกอบด้วยเรือนจำกลางนครราชสีมา กรมราชทัณฑ์ จ.นครราชสีมา โดยนายสมศักดิ์ เกียรติดานุสรณ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครราชสีมา ,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โดยนายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ โดยนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า การจัดระบบบริการการแพทย์จิตเวชทางไกลครั้งนี้ เป็นการพัฒนาระบบการดูแลผู้ต้องขังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาทางจิตได้สูงกว่าประชาชนทั่วไปหลายเท่าตัว ให้ได้รับการตรวจรักษาอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน โดยรพ.จิตเวชฯในฐานะที่เป็นรพ.เฉพาะทางได้เชื่อมต่อเทคโนโลยีการสื่อสารในระบบสมาร์ท ฮอสปิตอล (Smart hospital) ระหว่างรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกับเรือนจำกลางนครราชสีมา และจะจัดจิตแพทย์และทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อาทินักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ทำการตรวจรักษาผู้ต้องขังในเรือนจำกลางฯที่ป่วยทางจิตผ่านทางระบบวิดีโอคอล(Video Call) ร่วมกับฝ่ายการแพทย์ของเรือนจำกลางฯ ดูแลครอบคลุมทั้งการส่งเสริม ป้องกัน การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยที่เรือนจำกลางฯมีผู้ต้องขังประมาณ 4,000 กว่าคน ในจำนวนนี้ป่วยทางจิตและขึ้นทะเบียนรักษารวม 30 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท และซึมเศร้า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยทางจิตที่มุ่งเน้นมี 2 กลุ่มคือ ผู้ป่วยเก่าที่มีอาการทางจิตเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และกลุ่มผู้ป่วยที่รับยาเดิมครบ 1 ปี ซึ่งมีประมาณร้อยละ10 ของผู้ป่วยทั้งหมด เพื่อให้จิตแพทย์ประเมินอาการและปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม ผู้ต้องขังที่ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรพ.จิตเวชฯ โดยบันทึกข้อมูลผู้ป่วยในระบบอิเลกทรอนิกส์ทั้งหมด จากนั้นรพ.จิตเวชฯจะจัดส่งยาให้ผู้ป่วยกินอย่างครบถ้วน และเมื่อผู้ป่วยพ้นโทษซึ่งมีเฉลี่ยเดือนละ 1-2 คน สำนักงานสาธารณสุขจ.นครราชสีมาจะดำเนินการจัดระบบการดูแลต่อเนื่องเหมือนผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป โดยสถานพยาบาลในพื้นที่ตั้งแต่รพ.ชุมชนลงไปถึงรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล จะจัดทีมไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทุก 1 เดือนหรือตามความจำเป็น ซึ่งขณะนี้รพ.จิตเวชฯ ได้เชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบออนไลน์ภายใต้ระบบสมาร์ท เซอร์วิส ( Smart service) กับสถานพยาบาลทุกแห่งในจ.นครราชสีมาแล้ว หากผู้ต้องขังมีภูมิลำเนานอกเขตจ.นครราชสีมา ก็จะมีระบบการส่งต่อเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเช่นกัน "ผลดีของระบบการแพทย์จิตเวชทางไกลในเรือนจำ เป็นการใช้ความก้าวหน้าเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร มาลดข้อจำกัดต่างๆในงานบริการตามนโยบายของกรมสุขภาพจิต จะช่วยให้ผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตได้รับการดูแลรักษาจนหายขาดหรือทุเลา ป้องกันการก่อความรุนแรง ปัญหาขาดยา และป้องกันการก่อคดีซ้ำจากอาการป่วยทางจิต เพิ่มความปลอดภัย ลดภาระเจ้าหน้าที่เรือนจำ เนื่องจากการพาผู้ต้องขังออกนอกสถานที่ 1 คน จะต้องใช้บุคลากร 3-4 คน" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่ออีกว่า รพ.จิตเวชฯจะประเมินผลใน 6 เดือน จากนั้นจะขยายผลในเรือนจำทั้งจังหวัดที่เหลืออีก 5 แห่งในระยะที่ 2 คือ เรือนจำอ.บัวใหญ่ ,เรือนจำอ.สีคิ้ว , เรือนจำกลางคลองไผ่ ,ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา และทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ภายในปี 2563 และในระยะที่ 3 จะขยายผลในเรือนจำในเขตนครชัยบุรินทร์อีก 3 จังหวัด คือ ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ซึ่งมีจังหวัดละ 2 แห่งต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ