'วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต’ ทลายขีดจำกัดเพลงพื้นถิ่น-ผสมผสานแนวเพลงป็อป ฉลอง 60 ปี สจล. ร่วมสืบสานดนตรีพื้นบ้าน 4 ภาคของไทย ผ่านบทเพลง 'สดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม’

ข่าวบันเทิง Monday December 16, 2019 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ - วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ฉลอง 60 ปี ร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่เพลงพื้นถิ่น ส่งเพลง "สดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม" ดึงเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเพลงและดนตรีทุกขั้นตอน ปัจจุบันเพลงไทยพื้นบ้านถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทย ด้วยแนวเพลงป็อป (POP) ที่ได้รับความนิยมสูงและต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จึงมีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงไทยพื้นถิ่น 4 ภาค ที่นำเครื่องดนตรีท้องถิ่นมาผสมผสานกับแนวดนตรีสากล มาเป็นบทเพลงนำร่อง ภายใต้ชื่อ "สดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม" ให้ทุกคนได้สนุกสนานกันในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ดนตรีพื้นบ้านของไทยถูกลืมเลือนและถูกแทนที่ด้วยดนตรีสากล ขณะเดียวกันดนตรีของไทยต้องปรับตัวทั้งคนทำเพลงและคนฟัง เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการเข้าถึง แนวเพลง เนื้อหา รวมถึงเพลงป็อป (POP) เป็นแนวเพลงที่มีคนฟังได้ทั้งประเทศ และไม่เคยตกยุคตกสมัยเหมือนแนวเพลงอื่นๆ จึงเป็นแนวทางให้วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ปรับปรุงดนตรีพื้นบ้านให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยนำแนวเพลงป็อป (POP) มาผสมผสานกับแนวดนตรีพื้นถิ่น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและแนวดนตรีพื้นบ้านของไทย จึงถือโอกาสที่ สจล. ฉลองครบรอบ 60 ปี ในปี 2563 โดยวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้จัดตั้งโครงการ "เผยแพร่ดนตรีไทยพื้นเมืองสู่สาธารณชน" ภายใต้แนวคิด KMITL GO BEYOND THE LIMIT ที่ต้องการสืบสารแนวดนตรีพื้นบ้าน 4 ภาคของไทยเข้ากับแนวดนตรีสากลที่ได้รับความนิยมอย่างแนวเพลงป็อป (POP) เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ดนตรีพื้นบ้านร่วมสมัยกับเครื่องดนตรีสากล และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเพลงและดนตรีทุกขั้นตอนให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งนี้ ได้นำร่องแต่งเพลงแรกภายใต้ชื่อ "สดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม" ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานเพลงระดับมืออาชีพโดยวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต และมีแดนซ์เซอร์ซึ่งเป็นนักศึกษาจากชมรมอีสาน สจล. มาร่วมสนุกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งมีเนื้อหาเพลงสื่อไปในเชิงสร้างสรรค์และมีความสนุกสนานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวเพลงพื้นถิ่นอีสาน โดยผสมผสานระหว่างเอกลักษณ์ของแนวดนตรีไทยอีสานเหนือที่มีความโดดเด่นในทำนองเกริ่นและท่วงทำนองแบบกาฬสินธุ์ แคนสารคาม และอีสานใต้ที่มีความโดดเด่นในท่วงทำนองของแนวเพลงกันตรึมที่มีความสนุกสนาน ด้วยการนำเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น ซอ พิณ และแคน มาผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล ซึ่งสามารถก้าวข้ามความแตกต่างของดนตรีได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตาม เพลงดังกล่าวมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ผ่านช่องทางยูทูป เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่นี้ "คำว่าสดือดึงนั้นมาจากเสียงของสายดึงว่าวและการดีดไห ส่วนคำว่าโจ๊ะพรึมพรึม เป็นคำของเพลงกันตรึมของอีสานใต้ และเมื่อนึกถึงบรรยากาศและกิจกรรมที่สนุกสนานของหนุ่มสาวของพี่น้องชาวอีสาน จะพบว่าเป็นบรรยากาศของงานรื่นเริง เพลงหมอลำงานวัด จึงเป็นที่มาของเนื้อเพลงดังกล่าว ในส่วนของนักร้องทั้งชายและหญิงเป็นผู้ที่มีความรู้เชิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นอย่างยิ่ง และมีความสามารถในการร้องเป็นอย่างดี จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงสดือดึงโจ๊ะพรึมพรึม" ผศ.ดร.พิทักษ์ กล่าว
แท็ก วิศวกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ