'ประภัตร’ ลั่นฆ้อง! มอบของขวัญปีใหม่ชาวอิสาน ลุยคิกออฟ 'โคเนื้อสร้างชาติ’ ดัน 'ขอนแก่นโมเดล’ แห่งแรก หนุนสินเชื่อ 33 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Tuesday December 17, 2019 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ (17 ธ.ค. 62) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน การขับเคลื่อนโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง "ขอนแก่นโมเดล" ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครขอนแก่น ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตลอดจนในช่วงบ่ายเดินทางไปมอบปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล ณ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายจิรวัฒน์ โลหะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดขอนแก่น คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยฯ หัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ และมีเกษตรกรเข้าร่วมรวมกว่า 2,000 คน นายประภัตร กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักและมีความเป็นห่วงเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้านราคา อีกทั้งเกษตรกรรายย่อยมักขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้จัดทำโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมปศุสัตว์ กับ ธ.ก.ส. ไปแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาดผลิตผลการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะแกะ และไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดขอนแก่น มีเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 28,774 ราย มีโคเนื้อรวม 162,863 ตัว ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านการเลี้ยงโคเนื้อ และเป็นศูนย์กลางในภาคอิสาน จึงมองเห็นโอกาสที่จะช่วยฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกรที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ภายใต้ชื่อ "โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนสร้างรายได้ ภายใต้โครงการโคเนื้อสร้างชาติ" ด้วยการเลี้ยงโคขุนระยะสั้นไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรในการยังชีพ และผลิตปุ๋ยมูลสัตว์ใช้ในการเพาะปลูก เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนระยะสั้น ตลอดจนพัฒนาศักยภาพคอกกลางรวบรวมโคขุน และคอกกักเพื่อการส่งออกให้กับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน จำนวน 40,000 รายในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเกษตรกรต้องจัดหาซื้อโคตามคุณลักษณะที่กรมปศุสัตว์กำหนด คือโคเนื้อเพศผู้ จำนวน 5 ตัว อายุระหว่าง 1 ปีครึ่ง – 2 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 250 กก. พร้อมกันนี้รัฐสนับสนุนค่าอาหารสัตว์ (TMR) สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ตลอดจนและสนับสนุนบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร อีกด้วย "จ.ขอนแก่นมีความพร้อมทั้งในด้านพื้นที่ จึงได้เริ่มขับเคลื่อน 'ขอนแก่นโมเดล' เป็นจังหวัดแรกเพื่อเป็นต้นแบบให้อีก 20 จังหวัดในภาคอิสาน และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องเกษตรกร โดยภายในงานมีการจัดประชุมชี้แจงให้กับเกษตรกร และผู้ที่สนใจในอาชีพปศุสัตว์เข้าร่วมรับฟัง จาก 15 อำเภอ ใน จ.ขอนแก่น รวม 1,000 คน ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีนครขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น และจาก 11 อำเภอ ใน จ.ขอนแก่น รวม 1,000 คน ณ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่องไปเบื้องต้นแล้ว มีกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์สนใจขอเข้าร่วมโครงการจำนวน 149 กลุ่ม จำนวนเกษตรกร 1,487 คน ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้อนุมัติเงินงบประมาณให้กับเกษตรกรและแปลงใหญ่โคเนื้อ จำนวน 3 กลุ่ม เป็นเงิน 25.57 ล้านบาท โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) จำนวน 4 กลุ่ม เป็นเงิน 7.44 ล้านบาท รวม 33 ล้านบาท และยังมีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก โดยได้มอบป้ายสนับสนุนเงินเพื่อผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างมีศักยภาพ" นายประภัตร กล่าว นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง รายละเอียด ดังนี้ 1) โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อ กิจกรรมการเลี้ยงโคขุนจำนวน 40,000 รายๆ ละ 5 ตัว รวมโคขุนอย่างน้อย 200,000 ตัว สร้างหรือพัฒนาคอกกลางรวบรวมโคขุน 200 แห่ง (สัดส่วนประมาณ 500/คอก) ในพื้นที่ทั่วประเทศ และคอกกักเพื่อการส่งออก จำนวน 20 แห่ง (รองรับโคขุนประมาณ 1,000 ตัว/คอก) ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพให้กับเกษตรกร 2) โครงการส่งเสริมการผลิตกระบือ เกษตรกรเป้าหมาย 4,000 รายๆ ละ 5 ตัว รวม 20,000 ตัว 3) โครงการส่งเสริมการผลิตแพะเนื้อ เกษตรกรเป้าหมาย 1,000 รายๆ ละ 21 ตัว รวม 21,000 ตัว 4) โครงการการส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมือง เกษตรกรเป้าหมาย 294 ราย ผลิตไก่พื้นเมืองขุน 264,000 ตัว/ปี และ 5) กิจการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามศักยภาพและแผนธุรกิจที่มีความชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) การผลิตพืชอาหารสัตว์ การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ธุรกิจการส่งขนและการกระจายสินค้า (Logistics) เป็นต้น ในส่วนของคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน มีความพร้อมในการจัดเตรียมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม จัดหาอาหารสัตว์ให้กินอย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาการเลี้ยงเพื่อให้สัตว์มีการเจริญเติบโตเต็มที่อย่างมีศักยภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องดำเนินการจัดซื้อจัดหาพันธุ์สัตว์และปัจจัยการผลิตตามโครงการด้วยตนเอง นอกจากนี้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 100 บาท/ปี กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการ ส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPL นั้นสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยติดต่อที่ ธกส. เพื่อให้ความช่วยเหลือในการแบ่งผ่อนตามระเบียบต่อไป "ขณะนี้ได้ประชุมทำความเข้าใจกับปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศไปแล้ว เพื่อสำรวจความต้องการกลุ่มที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ รมช.เกษตรฯ ยังได้มอบนโยบายให้ทดลองเลี้ยงโคเนื้อ ที่ จ.สุพรรณบุรี ใช้เวลาเลี้ยง 117 วัน มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 200 กก. ซึ่งสามารถขายได้ กก.ละ 100 บาท จึงมั่นใจว่าหากเกษตรกรมีความตั้งใจและปฏิบัติอย่างถูกต้องจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ อาทิ แพะ ไก่พื้นเมือง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และ รมช.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำให้ส่งเสริมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเพิ่มจำนวนหมูเพื่อส่งออกไปจีน เนื่องจากขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดโรคอหิวาห์ทำให้ต่างประเทศมั่นใจในความปลอดภัย" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ