ส่องแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานสไตล์โซเชียลน้ำดี

ข่าวทั่วไป Thursday December 19, 2019 14:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--บีโอดับเบิลยู ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่โลกอินเตอร์เน็ตและดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด แพลตฟอร์มการสื่อสารก้าวเข้าสู่ยุคมัลติมีเดียอย่างแท้จริง เกิดเป็นโซเชียลมีเดีย สังคมออนไลน์ ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดึงผู้คนจำนวนมากให้เคลื่อนชีวิตจากโลกแห่งความเป็นจริงเข้าสู่โลกเสมือนมากขึ้น คนไทยติดโซเชียล จากรายงานการสำรวจข้อมูลเรื่องการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตโดยเฉลี่ยของคนไทย ในปี 2561 (Thailand Internet User Profile 2018) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนทุกช่วงวัยของสังคมไทยใช้ชีวิตอยู่กับอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น โดยผลการสำรวจ พบว่า คนไทย ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที และเมื่อลองแบ่งตามช่วงอายุ พบว่า คนที่อายุน้อยกว่า 18 ปี (กลุ่มGenZ) ใช้สื่ออินเตอร์เน็ต ระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที ส่วนวันหยุด เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 50 นาที ส่วนคนที่มีอายุ 18-37 ปี (กลุ่มGenY) ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที ส่วนวันหยุด เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 52 นาที คนที่มีอายุ 38-53 ปี (กลุ่มGenX) ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 25 นาที วันหยุดเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 55 นาที ส่วนคนที่มีอายุ 54-72 ปี (Baby Boomer) ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 21 นาที วันหยุด เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 26 นาที รู้เท่าทันสื่อ รับมือโซเชียลมีเดีย ในยุคที่ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปใช้ชีวิตในโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมๆ กับข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลที่มีทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และข้อมูลที่เป็นอันตราย ผู้คนในสังคมจำเป็นจะต้องรู้เท่าทันและรับผิดชอบต่อข้อมูลที่สรรค์สร้างขึ้น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จึงจัดทำซีรี่ย์ "รู้นะ รู้ยัง รู้ทันสื่อ" เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการรู้ทันสื่อ วิเคราะห์ และสามารถเลือกใช้สื่อในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมในวงกว้าง ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมการสื่อสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้สื่อสารมวลชน ที่เรียกว่า Mass Media หรือ Mass Society ในสื่อรูปแบบเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ลดอำนาจลงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนมีอิสระในการสื่อสารและหันไปหาสื่อทางเลือกโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสาร ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นคือความรับผิดชอบในการกำกับดูแลตัวเอง ตั้งแต่การผลิตคอนเทนต์ที่ต้องสร้างสรรค์ ถูกต้อง ไม่สร้างความแตกแยก ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ขณะที่ผู้รับสารก็ต้องตระหนักว่าทุกครั้งที่กดไลค์กดแชร์ข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองหมายถึงคุณกำลังแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ อยู่ "ทุกครั้งที่คุณกำลังเล่นโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์มันมีคำว่า User Generate Content คุณอยู่ในฐานะผู้ใช้งาน จากเดิมที่คุณดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ ดูหนัง คุณเป็นผู้รับสาร แต่พอคุณอยู่บนสื่อใหม่คุณเป็นผู้ใช้และเป็นคนสร้างสารด้วย ดังนั้น สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีคือมีสติในการใช้โซเชียลมีเดีย รู้จักเลือกรับข้อมูล คิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และรับผิดชอบในการส่งต่อแต่เรื่องที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ และที่สำคัญที่สุดคืออย่าคิดว่าการโพสต์หรือคอมเม้นท์บนโซเชียลมีเดียของตัวเองเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะทุกเรื่องที่พิมพ์บนสื่อออนไลน์ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องสาธารณะและจะอยู่บนโลกออนไลน์ไปตลอด" รศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าว ทำธุรกิจแบบสร้างสรรค์ รับผิดชอบต่อสังคม นอกจากการกระตุ้นให้ทุกคนรู้ทันสื่อแล้ว ฝั่งผู้ผลิตสื่อทางเลือกก็จำเป็นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อคอนเทนต์ที่ผลิตและส่งต่อออกไป "ญาณวุฒิ จรรยหาญ" เจ้าของเพจ "พี่เอ็ด 7 วิ" และช่องยูทูป "Ed7Vi" ที่รับผลิตโฆษณาให้สินค้าจำนวนมาก กล่าวว่า คอนเทนต์โฆษณาที่ทำอยู่เป็นงานที่ยากเพราะต้องหาตรงกลางระหว่างการทำคลิปที่ต้องการให้มีคนชมและแชร์จำนวนมากกับความต้องการของลูกค้าที่จ้างผลิตงาน แม้ว่าการทำเพจจะเป็นธุรกิจของบริษัทแต่พวกเรามีจุดยืนที่ชัดเจนในการรับและผลิตงานคือจะต้องไม่ทำให้เกิดผลเสียกับสังคม ถ้าโปรเจกต์ไหนที่ดูแล้วไม่แน่ใจว่าสินค้าบริการนั้นดีจริงหรือไม่ก็จะปฏิเสธลูกค้าไป และก่อนจะรีวิวส่วนตัวมีการนำมาใช้จริงก่อน หากบางอย่างไม่ได้ใช้เราก็จะขึ้นเนื้อหาในโฆษณาให้ชัดเจนเพื่อสื่อว่าเราไม่ได้ใช้ "ในสื่อแบบเก่าการเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลที่ดีกับไม่ดีจะมีข้อจำกัดอยู่ แต่สำหรับสื่อใหม่แล้ว ข้อมูลข่าวสารที่ดีก็จะดีมากไปเลยเช่นมีคอนเทนต์ที่ให้ข้อคิด ทำให้คนใจเย็น แต่ถ้าไม่ดีก็สุดเช่นกัน จึงเป็นหน้าที่ของคนเสพด้วยที่ต้องมีวิจารณญาณ โดยเฉพาะเด็กก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองด้วยที่ต้องช่วยกันแนะนำ"ญาณวุฒิ กล่าว เช่นเดียวกับ "เอก" พิชัย แก้ววิชิต วินมอเตอร์ไซค์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกโซเชียล ด้วยฝีมือการถ่ายภาพผ่านมุมมองที่ไม่ธรรมดาทำให้มีคนติดตามดูภาพของเขาผ่านอินสตาแกรม @phichaikeawvichit กว่า 50,000 คน ระบุว่า หลังจากมีชื่อเสียงในโลกโซเชียล มีสินค้าหลายอย่างติดต่อเข้ามาให้เป็นพรีเซนเตอร์ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง มอเตอร์ไซค์ แต่ทั้งหมดนี้ก็พิจารณาก่อนว่าเกิดประโยชน์อะไรกับสังคมบ้าง ถ้าเนื้อหาโฆษณาสร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ก็รับ ส่วนที่ไม่รับเลยคือขายของตรงๆ เพราะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใคร ถ้าได้เงินแล้วสังคมต้องได้ประโยชน์ด้วย "ทุกครั้งที่ผมถ่ายภาพนอกจากดูองค์ประกอบ แสง และเงาแล้ว ผมยังเลือกเสนอเฉพาะภาพที่มีประโยชน์เท่านั้น ไร้สาระได้บ้างแต่ก็ไม่ควรจะมากเกินไป เพื่อไม่ให้ไปบดบังข้อมูลดีๆ ที่อาจเป็นประโยชน์กับเด็ก ๆ และเยาวชนที่เขาได้เห็นแล้วได้รับแรงบันดาลใจ มีมุมมองที่ถูกต้องต่อสังคมได้" พิชัย กล่าว ในโลกที่เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ เราทุกคนคงไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งที่กำลังเป็นไป แต่ที่ทำได้คือการรู้เท่าทันข้อมูลที่ไหลบ่าในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีสติ และหากอยู่ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ก็จะต้องผลิตและส่งต่อคอนเทนต์อย่างรับผิดชอบต่อสังคม เพียงเท่านี้ทุกคนก็มีส่วนในการสร้างสรรค์โซเชียลมีเดียให้เอื้อต่อการเป็นสังคมที่ส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องได้แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ