กทม.แจงแนวทางจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Thursday December 26, 2019 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ นายธรรมรัตน์ มุกมีค่า ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. กล่าวกรณีปลัดกระทรวงการคลัง (กค.) ระบุ กค. และกระทรวงมหาดไทย เตรียมออกประกาศกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่ อาศัยหรืออาคารชุด (คอนโดมิเนียม) แม้จะนำไปให้เช่าเชิงพาณิชย์ก็ยังคงเสียภาษีในอัตราเดียวกับที่อยู่อาศัย ดังนั้น ประชาชนผู้ถือครองคอนโดมิเนียมที่ได้รับจดหมายจาก กทม. ให้แจ้งข้อมูลรายการห้องชุด จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สำนักงานเขตเพื่อเข้ามาย้ายรายชื่อเข้ามาอยู่ในคอนโดมิเนียมภายในปี 2562 เนื่องจากคอนโดมิเนียมทุกห้องจะจัดเก็บภาษีในอัตราที่อยู่อาศัยว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดในเขตกรุงเทพมหานคร นั้น กทม. ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่จัดทำโดยกลุ่มงานนโยบายการคลังและพัฒนารายได้ สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำประกาศบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดพร้อมทั้งแจ้งบัญชีรายการไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ละรายทราบ กทม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการจึงย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมาย ส่วนการแก้ไขประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน หากประชาชนตรวจสอบบัญชีรายการแล้ว พบว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถยื่นเรื่องขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ 2 แนวทางดังนี้ 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตรวจสอบพบว่าบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจสั่งแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 และ 2) ผู้เสียภาษีตรวจสอบรายการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่น ขนาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือลักษณะการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามความเป็นจริง ให้ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และให้ผู้บริหารท้องถิ่น มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานสำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ให้เจ้าพนักงานสำรวจ รายงานให้ผู้บริหารท้องถิ่นทราบ พร้อมแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้เสียภาษีทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องจากผู้เสียภาษี ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้ข้อยุติเกี่ยวกับประเภทการใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย โดยเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติให้กับ อปท. รวมถึง กทม. ซึ่งเป็น อปท.รูปแบบพิเศษ สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ในการแก้ไขประกาศและบัญชีรายการที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดได้ โดยประชาชนไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไข ณ สำนักงานเขต ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กทม. ได้จัดส่งแบบแจ้งรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) ไปยังเจ้าของห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วโดยขอให้เจ้าของห้องชุดที่ได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลรายการห้องชุดตรวจสอบข้อมูล เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ชื่ออาคารชุด เลขที่ห้อง พื้นที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ หากพบข้อมูลไม่ถูกต้องให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบรายการให้ถูกต้อง โดยสามารถติดต่อด้วยตนเองที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตพื้นที่ที่ห้องชุดนั้นตั้งอยู่ หรือสแกน QR code ด้านหลังซองจดหมายเพื่อแก้ไขบัญชีรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) ได้ หากบุคคลใดมีห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมมากกว่าหนึ่งห้อง และอยู่ในหลายพื้นที่เขต ต้องใช้ QR code ของจดหมายเขตนั้น ๆ ยื่นแก้ไขบัญชีรายการ เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขบัญชีรายการข้ามเขตได้ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดส่งแบบคำร้องขอแก้ไขทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ที่ห้องชุดนั้นตั้งอยู่ โดยจัดส่งเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน เช่น สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2563 อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จากเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย www.dla.go.th เว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง www.fpo.go.th ส่วนราคาประเมินห้องชุดสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ http://property.treasury.go.th/pvmwebsite)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ