แนวทางเฝ้าระวังโรคติดต่อ - ยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

ข่าวทั่วไป Friday January 3, 2020 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2563 ระบุประเทศไทยยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 โรคติดต่ออันตราย กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ และกลุ่มที่ 3 โรคจากเชื้อไวรัสไม่ทราบชื่อที่เสี่ยงจะเกิดการติดต่อจากสัตว์สู่คน นั้น ที่ผ่านมาสนพ. ได้ติดตามสถานการณ์โรคติดต่อและภัยสุขภาพในกลุ่มโรคทั้งสามกลุ่มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำชับโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อทั้ง 3 กลุ่ม มายังสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อประเมินสถานการณ์ และประกาศแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลในสังกัดเพื่อเตรียมความพร้อมยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคและควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมให้ความรู้การป้องกันตนเองจากโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล ตลอดจนจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ผ่าน Facebook Fanpage สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อ นอกจากนี้ ได้เปิดบริการ "สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์" โทร. 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำปรึกษาสุขภาพ นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. มีแนวทางการเฝ้าระวังโรคในแต่ละกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยติดตามสถานการณ์ของโรคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง และจัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ จากนั้นจะนำข้อมูลรายงานผู้บริหาร กทม. เพื่อพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน Emergency Operation Center รวมทั้งจัดทำหนังสือแจ้งเตือนหน่วยงานและเครือข่าย ขณะเดียวกันจะดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หมวด 5 การเฝ้าระวังโรคติดต่อ และหมวด 6 การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สำหรับกลุ่มที่ 2 โรคติดต่อที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ จะดำเนินการเฝ้าระวังตามระบบรายงาน 506 มีการวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง จัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ และทำหนังสือแจ้งเตือนหน่วยงานและเครือข่าย พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บริหารกทม. ทราบ เพื่อพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน และกลุ่มที่ 3 โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (เชื้อไวรัส 600 ชนิดที่ไม่ทราบชื่อ) มีการประสานงานหน่วยงานข้อมูลการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง และจัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ก่อนทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานและเครือข่าย รวมถึงรายงานผู้บริหาร กทม. เพื่อพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ