การคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี 2563 ประเมินความเสี่ยง โอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุน ทิศทางค่าเงินบาท ตราสารหนี้ ตลาดหุ้นและราคาน้ำมัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 6, 2020 08:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยหากภาคการลงทุนและภาคการส่งออกฟื้นตัว หรือ อาจแย่ลงกว่าเดิมอีกหากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่กระทบต่อภาคการลงทุนและการบริโภค สงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯลุกลามจนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 20% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียและไทยอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดแบบเดียวกับโรคซาร์เมื่อ 17 ปีก่อน แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแบบปี 2540 หากไม่แก้ไขปัญหาต่างๆในเชิงโครงสร้างที่สะสมมาและเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะซบเซาต่อเนื่อง ความสามารถแข่งขันถดถอย เหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น สะสมปัญหาที่จะเกิดปะทุเป็นวิกฤติในอนาคต 15.00 น. 5 ม.ค. พ.ศ. 2563 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.6%เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 ที่เติบโตเพียง 3% (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จีดีพีโลกปี พ.ศ. 2563 คำนวณโดยใช้ IMF Purchasing Power Parity อยู่ที่ 149.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลกระทบของสงครามทางการค้าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นแต่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2001-2019 (พ.ศ. 2544-2562) ที่ระดับ 3.9 โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเคยขึ้นแตะระดับ 4.3% ในปี พ.ศ. 2543 ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกล่าสุดเกิดจากความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านและการขยายวงของวิกฤตการณ์สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันให้ราคาน้ำมันและพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นไปแล้วกว่า 4% แตะระดับสูงสุดนับแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว หากอิหร่านตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบ Hormuz ซึ่งเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานหรือโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันผ่านช่องแคบ Hormuz จะทำให้มีผลกระทบต่ออุปทานของน้ำมันดิบในเอเชียเนื่องจาก 80% ผ่านช่องทางนี้เพื่อขนส่งมายังเอเชีย มีน้ำมันดิบประมาณ 22.5 ล้านบาร์เรลต่อวันผ่านช่องแคบนี้ ทางด้านผู้นำสหรัฐฯประกาศพร้อมโจมตีตอบโต้ 52 เป้าหมายสำคัญในอิหร่าน ปัจจัยดังกล่าวย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 20% จากระดับราคาปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆจะสูงกว่าที่คาดการณ์โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความจำเป็นในการต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลังเพิ่มขึ้น คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะอยู่ที่ 1.9-2.1% อัตราการขยายตัวของยูโรโซนอยู่ที่ 1.2-1.5% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.5-0.8% จีนอยู่ที่ 5.8-6% ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัวได้เพียง 1.2-1.2% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเป็นมูลค่าในรูปเงินดอลลาร์ยังคงหดตัวหรือติดลบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว การขยายตัวของการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาค อันเป็นผลจากลักษณะของระบบโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงไปและการเผยกระจายของการกีดกันและการปกป้องทางการค้ารวมทั้งอิทธิพลของแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยมและชาตินิยมทางเศรษฐกิจ คาดว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดการเงินยังคงเป็นบวกจากสภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงมาก และจะปรับเพิ่มขึ้นอีกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและธนาคารกลางจีน ราคาทองคำและดอลลาร์แข็งค่าปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง นักลงทุนมีความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำมากขึ้น ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ปัจจัยบวก คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะในสินค้าไฮเทคเทคโนโลยี จะเกิดสงครามค่าเงินมากขึ้น (Currency War) นอกจากนี้ อาจเกิดความขัดแย้งทางการค้าประเด็นเรื่องการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลธุรกิจออนไลน์ระหว่างสหรัฐกับยุโรป ส่วน Brexit นั้นจะยืดเยื้อไปอีกนานกว่าจะมีข้อตกลงกันได้ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเศรษฐกิจไทย ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมากและยังมีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่หลายท่านเรียกว่า "เผาจริง" แต่อย่างใดหรือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 เพียงแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำต่อเนื่องยาวนานอันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันจากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการศึกษา การแพร่กระจายของการคอร์รัปชันในทุกระดับ รวมทั้งความเสื่อมศรัทธาอันเป็นผลจากการไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม นอกจากนี้ยังไม่สามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิสรัปชันได้อย่างเท่าทันทั้งในส่วนของกิจการและธุรกิจต่างๆตลอดจนถึงคนงาน จึงทำให้เกิดภาวะเลิกจ้างและว่างงานเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-2.9% ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยจะมีจีดีพีต่ำที่สุดเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ในปีนี้ อัตราการขยายตัวจีดีพีโดยเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 6% เศรษฐกิจไทยอาจกระเตื้องขึ้นได้เล็กน้อยหากภาคการลงทุนและภาคการส่งออกฟื้นตัว การเรียงลำดับความสำคัญของการเร่งรัดในการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจึงมีความสำคัญ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.6-2.9% ซึ่งเป็นกรอบการคาดการณ์ด้านสูงของศูนย์วิจัยฯมีความเป็นไปได้ ขณะที่กรอบการคาดการณ์ด้านต่ำมีความเป็นไปได้มากกว่า คือ ขยายตัวต่ำกว่า 2% การที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้วทั้งที่สถานการณ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯดีขึ้น เป็นผลจากปัจจัยลบดังต่อไปนี้ ปัจจัยที่หนึ่ง วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่อันเป็นผลมาจากการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การขาดระบบนิติธรรมและการขาดความเป็นธรรมในสังคมรวมทั้งการสร้างกระแสเกลียดชังกันครั้งใหม่ด้วยการปลุกกระแส "ชังชาติ" ขึ้นมา หรือการให้ร้ายป้ายสีโดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับเรื่องแนวคิดในการล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ ภาวะดังกล่าวเป็นวิกฤติที่คนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้รักสามัคคีและไม่ยึดถือความปรองดองสมานฉันท์สร้างขึ้นมาเอง และสิ่งนี้จะมีผลกระทบต่อภาคการลงทุน การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวอย่างยากที่จะคาดเดาได้ ปัจจัยที่สอง สงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯลุกลามจนอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 20% จากระดับปัจจุบันในช่วงไตรมาสแรก กระทบต่อเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง กระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียโดยรวมจากการพึ่งพาน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง ปัจจัยที่สาม ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียและไทยอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดแบบเดียวกับโรคซาร์เมื่อ 17 ปีก่อน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเรื่องดังกล่าวในไทยดีเท่าที่ควร ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดอาจไม่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยที่สี่ ผลกระทบภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรมจนทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมขยายตัวติดลบได้ คาดว่าติดลบประมาณ -0.5 ถึง -1% ทั้งปี โดยไตรมาสสองอัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตอาจติดลบมากกว่า -1.5% ขณะที่ราคาผลผลิตบางส่วนจะปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากขาดแคลนน้ำในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก แม่น้ำโขง รวมทั้งแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบภาวะแห้งขอด และเป็นวิกฤติหายนะทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด ขณะที่ ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจัยที่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่งผลบวกต่อภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยในระดับหนึ่ง ปัจจัยที่สอง การใช้งบประมาณปี 2563 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีความจำเป็นในการเร่งรัดการใช้จ่ายจากระยะเวลาที่เหลืออีก 9 เดือนของปีงบประมาณ 2563 ปัจจัยที่สาม ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังดีอยู่ ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สินต่างประเทศระยะสั้นต่ำ การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อต่ำ ปัจจัยที่สี่ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลัง ปัจจัยที่ห้า การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจัยบวกเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดการกระจายตัวของผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่และธุรกิจรายเล็กรายกลางมากนัก เพราะไทยไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เศรษฐกิจยังคงมีการผูกขาดสูงขาดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ตลาดการแข่งขันไม่เสรีจริง สังคมผู้สูงวัยทำให้ผลิตภาพโดยรวมปรับลดลง โครงสร้างเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาภายนอกสูง เป็นต้น นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่ได้ไปเน้นไปที่การสร้างงานสร้างรายได้ แต่เป็นเน้นการแจกเงินทำให้ประชาชนเสพติดประชานิยม ประชานิยมแบบนี้จะสร้างปัญหาฐานะทางการคลังในระยะต่อไป การกระตุ้นภาคการบริโภคติดข้อจำกัดหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงแตะ 80% ของจีดีพี ขณะที่ การกระตุ้นภาคการลงทุนอาจได้ผลบ้างเนื่องอัตราการใช้กำลังการผลิตในบางธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับ 70-80% และจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนอาจไม่สูงนักเนื่องจากมีการลงทุนส่วนเกินอยู่ ดอกเบี้ยต่ำช่วยประคับประคองการลงทุนได้ระดับหนึ่ง ควรผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเนื่องจากยังไม่มีสัญญาณของปัญหาฟองสบู่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เหตุการณ์หรือปัจจัยที่ต้องจับตาและติดตามในปีนี้ ได้แก่ เหตุการณ์หรือปัจจัยภายใน การอนุมัติงบประมาณปี 2563 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนมกราคม การประมูล 5G การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์เลิกจ้างยังเกิดอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกและไตรมาสสองปีนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนมีนาคม เป็นต้น ส่วนเหตุการณ์หรือปัจจัยในต่างประเทศ ได้แก่ การเซ็นข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯกับจีน 15 ม.ค. เส้นตาย Brexit เดือนมกราคม การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จีนช่วงครึ่งปีหลัง การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เดือน ก.ค. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือน พ.ย. เป็นต้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวถึง ภาวะการลงทุนในตลาดการเงินจะยังคงได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่มีอยู่สูง การปรับขึ้นของราคาของสินทรัพย์เสี่ยงอาจไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและผลการดำเนินของกิจการได้ ฉะนั้นนักลงทุนจึงต้องเลือกจังหวะการเข้าลงทุนและซื้อขายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพลวัตต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1,750-1,550 ในปี พ.ศ. 2563 โดยควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกิจการปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง พลังงาน อิเลคทรอนิกส์ และ สถาบันการเงินบางแห่ง กิจการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น การคาดการณ์ค่าเงินบาทว่า เงินบาทจะมีความผันผวนสูงอาจแข็งค่าอีกเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกและอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าได้หลังจากนี้จากภาวะเงินทุนระยะสั้นไหลออก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามในอ่าวเปอร์เซีย ดุลการค้าที่เกินดุลลดลงและอาจเริ่มขาดดุลหลังจากเกินดุลมาต่อเนื่องยาวนานหลายปี โดยคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 29-31 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสแรก 30.50-31.50 ในไตรมาสสอง 29.50-30.50 ในไตรมาสสาม และ 31-32 ในไตรมาสสี่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ