สธ. ส่งทีมเยียวยาใจเด็กนักเรียน ป.4 จากเหตุถูกปืนลั่นใส่ ป้องกันเกิด “โรคเครียดเฉียบพลัน โรคบาดแผลทางใจ”

ข่าวทั่วไป Tuesday January 7, 2020 10:21 —ThaiPR.net

สธ. ส่งทีมเยียวยาใจเด็กนักเรียน ป.4 จากเหตุถูกปืนลั่นใส่ ป้องกันเกิด “โรคเครียดเฉียบพลัน โรคบาดแผลทางใจ” กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เขตสุขภาพที่ 9 ส่งทีมวิกฤติสุขภาพจิต เยียวยาเด็กนักเรียนชั้น ป.4 จากเหตุการณ์ถูกปืนพกสั้นลั่นใส่จนได้รับบาดเจ็บเมื่อ 3 ม.ค. 2563 เพื่อป้องกันโรคเครียดเฉียบพลันและโรคบาดแผลทางใจ โดยเน้นดูแลเป็นพิเศษ 2 กลุ่มคือเด็กที่เห็นเหตุการณ์ 4 คน และเด็กร่วมชั้นเรียนอีก 30 กว่าคน ในเบื้องต้นพบเด็กมีอาการตกใจบ้าง แนะให้ครู ผู้ปกครองสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หวาดกลัว ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ ฝันร้าย โดยจะประเมินจิตใจซ้ำอีก 2 สัปดาห์ นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประจำเขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา หลังเกิดเหตุการณ์เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บจากถูกอาวุธปืนพกสั้นลั่นใส่ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่า จากการติดตามอาการของเด็กที่ถูกปืนลั่นใส่ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2563 เด็กปลอดภัยแล้ว อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ รพ.มหาราชนครราชสีมา โดยมีทีมของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.นครราชสีมา และจิตแพทย์ รพ.มหาราชฯ ดูแลด้านจิตใจรวมทั้งผู้ปกครองด้วย นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดูแลจิตใจเด็กนักเรียน ครูในโรงเรียนที่เกิดเหตุครั้งนี้ รวมทั้งผู้ปกครองด้วย ได้ส่งทีมวิกฤติสุขภาพจิต หรือทีมเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) จาก รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 จ.นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้การเยียวยา ปฐมพยาบาลทางใจร่วมกับทีมสุขภาพจิตของสำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ ป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงทางจิตใจ โดยเฉพาะ 2 โรคที่พบบ่อยหลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติคือโรคเครียดเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder) และโรคบาดแผลทางใจหรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะซึมเศร้า หรือส่งผลกระทบต่อการเรียนได้ โดยมุ่งเน้นเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ 2 กลุ่มคือเด็กที่เห็นเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งมีจำนวน 4 คน และเด็กที่อยู่ในชั้นเรียนของเด็กที่บาดเจ็บซึ่งมี 30 กว่าคน "ผลการตรวจประเมินสภาพจิตใจในเบื้องต้นพบว่า เด็กมีอาการตกใจอยู่บ้าง แต่ยังสามารถทำกิจกรรมในชั้นเรียนได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามทีมเอ็มแคทได้ประชุมและวางแผนร่วมกับคณะครูของโรงเรียนแห่งนี้ โดยจะทำการตรวจประเมินสภาพจิตใจซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ได้แนะนำให้โรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนเด็กตามปกติ และแนะนำทั้งครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนให้สังเกตอาการผิดปกติของเด็ก เช่น หวาดกลัว สับสน กระวนกระวาย ฝันร้าย หรือมีภาพเหตุการณ์เดิมผุดขึ้นมาในใจ ตกใจง่าย มีอาการซึมเศร้า หรือมีอารมณ์พฤติกรรมก้าวร้าวต่างไปจากเดิม ไม่มีสมาธิในการเรียน มีปัญหาการนอน บางคนมีปัสสาวะบ่อย หากพบจะให้การดูแลจิตใจร่วมกันอย่างเต็มที่" นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าว ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคเครียดเฉียบพลัน จะเป็นเร็วและหายเร็วคือมีอาการเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 2 วัน นานที่สุดไม่เกิน 4 สัปดาห์ แต่โรคบาดแผลทางใจนั้นจะมีอาการปรากฏหลังเหตุการณ์ไปจนถึงประมาณ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย อาการที่สังเกตเห็นได้ง่าย เช่น นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท หงุดหงิดง่าย ฝันร้ายหรือระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำๆ ตกใจง่าย หรือไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่ที่ชวนให้นึกถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำอีก ซึ่งหากเด็กได้รับการดูแลจิตใจอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ต้นก็จะสามารถป้องกันผลกระทบนี้ได้
แท็ก ปืนพก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ