ปภ.วางมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ บริหารจัดการ – จัดสรรน้ำทั่วถึง มีประสิทธิภาพสูงสุด

ข่าวทั่วไป Thursday January 9, 2020 09:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แม้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น แต่หลังจากสิ้นสุดฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ประเทศไทยตอนบนมีการกระจายของฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ อาจส่งผลให้บางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงรุก ภายใต้กลไกระบบบัญชาการณ์เหตุการณ์ตามกฏหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มุ่งเน้นบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย เพื่อลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด ดังนี้ - 3 กลุ่มภารกิจหลักบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 1.กลุ่มพยากรณ์ จัดตั้งคณะทำงานติดตามสภาพอากาศ ปริมาณน้ำท่า และสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บน้ำ เพื่อวิเคราะห์และประเมินปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำ 2.กลุ่มบริหารจัดการน้ำ จัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานทำหน้าที่วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและครอบคลุมการใช้น้ำทุกประเภท ทั้งการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงกำหนดแนวทางการระบายน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ 3.กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ บูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน รวมถึงจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง - 4 แนวทางป้องกันและลดผลกระทบภัยแล้ง 1.น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำรวจและจัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมกำหนดมาตรการรับมือให้สอดรับกับแนวโน้มความเสี่ยงภัยและสภาพพื้นที่ ด้วยการจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล การสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบผลิตน้ำประปา อีกทั้งพัฒนาพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงให้เป็นแหล่งเก็บน้ำถาวร ควบคู่กับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินให้คุณภาพน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ 2.น้ำเพื่อการเกษตร สนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่ตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงขอความร่วมมือเกษตรกรมิให้ปิดกั้นลำน้ำและสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค อีกทั้งประสานการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย 3.น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ เฝ้าระวังและคุมเข้มไม่ให้มีการปล่อยน้ำเน่าเสียลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย รวมถึงสำรวจเส้นทางคมนาคมเลียบคลอง ลำน้ำ หรือแม่น้ำ เพื่อวางมาตรการป้องกันการพังทลายของตลิ่ง 4.สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ควบคู่กับ การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างและซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างครอบคลุมทุกมิติ มุ่งวางระบบบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ และประเทศไทยสามารถผ่านพ้นภัยแล้งด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ