ปภ.รายงานมีจังหวัดประกาศเขตฯ ภัยแล้ง 18 จังหวัด ประสานจังหวัดเร่งแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง

ข่าวทั่วไป Friday January 10, 2020 08:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 18 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน นครพนมมหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครราชสีมาอุตรดิตถ์ ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และสุโขทัย รวม 89 อำเภอ 509 ตำบล 4,429 หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่ง ปภ.ได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชน ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (10 ม.ค. 63) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 18 จังหวัด รวม 89 อำเภอ 509 ตำบล 4,429 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย รวม 27 อำเภอ 143 ตำบล 1,071 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา รวม 32 อำเภอ 220 ตำบล 2,199 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี รวม 30 อำเภอ 144 ตำบล 1,136 หมู่บ้าน ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ