สมศ.แนะครูยุคใหม่ให้ผันตัวเป็น “ไลฟ์โค้ช” พร้อมเผยทักษะ 4 ด้านที่ต้องเติมให้เด็ก “ใช้เทคโนโลยีสอน – กระตุ้นระบบความคิด – สร้างทักษะชีวิต - เปลี่ยนครูเป็นผู้ชี้แนวทาง”

ข่าวทั่วไป Wednesday January 15, 2020 15:32 —ThaiPR.net

สมศ.แนะครูยุคใหม่ให้ผันตัวเป็น “ไลฟ์โค้ช” พร้อมเผยทักษะ 4 ด้านที่ต้องเติมให้เด็ก “ใช้เทคโนโลยีสอน – กระตุ้นระบบความคิด – สร้างทักษะชีวิต - เปลี่ยนครูเป็นผู้ชี้แนวทาง” กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. แนะครูให้ปรับตัวและก้าวทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากเดิมมาเป็นการสอนแบบพี่เลี้ยง พร้อมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับครูยุคใหม่ 4 ด้าน ได้แก่ 1) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ในห้องเรียน 2) กระตุ้นให้เด็กมีระบบความคิด และกล้าแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์และสามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิต 3) เปลี่ยนครูจากผู้สอนให้เป็นผู้ชี้แนวทางและรับฟัง ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ เพื่อลดช่องว่างและรู้จักตัวตนของผู้เรียนมากขึ้น และ 4) การสอนทักษะการใช้ชีวิต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้เรียนและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามการประเมินคุณภาพภายนอกตลอด 20 ปี ที่ผ่านมาพบว่าครูส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจด้านการประกันคุณภาพการศึกษาคลาดเคลื่อนไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงอยากให้ครูมีการพัฒนา ปรับปรุง คุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนด และเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพ และตรงตามความมุ่งหวังของสังคม นางสาวขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้นซึ่งส่งผลให้การค้นคว้าข้อมูลสามารถทำได้อย่างกว้างขวางไม่จำกัดแค่ในหนังสือเรียนเหมือนที่ผ่านมา เพราะเด็กสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารค้นคว้าสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ย่อมส่งผลดีกับเด็กนักเรียนในปัจจุบันมากกว่าในอดีต เพราะทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ที่อยู่ภายนอกห้องเรียนได้อย่างอิสระ รวมทั้งสามารถพัฒนาความรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็วตามโลกโชเซียล และยังสืบค้นข้อมูลได้เองบนอินเตอร์เน็ตหรือที่เรียกว่าการเรียนรู้ไร้พรมแดน ด้วยเหตุนี้ ครูในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์หรือสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้ของผู้เรียน ในยุคศตวรรษที่ 21 แล้วยังจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากเดิมที่เคยสอนจากหนังสือเรียน หรือการยืนสอนหน้าชั้นเรียนมาเป็นการสอนแบบพี่เลี้ยงด้วยการส่งเสริมทักษะให้เด็กดังนี้ - นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับบรรยากาศในชั้นเรียน พร้อมส่งเสริมทักษะที่จำเป็นกับเด็กผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งแบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียนด้วย พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยตนเองได้ - กระตุ้นให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด และกล้าแสดงความเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์และสามารถปรับใช้ได้ในชีวิต พร้อมทั้งสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ กระตุ้นให้เด็กคิดอย่างมีเหตุผล การสังเคราะห์สิ่งต่างๆแล้วสร้างเป็นแนวคิดใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเด็กในการเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง - เปลี่ยนครูจากผู้สอนให้เป็นผู้ฟัง เนื่องจากเด็กยุคใหม่เริ่มมีความคิดเห็น หรือแนวคิดที่ต่างออกไป ซึ่งครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราว สิ่งที่ชอบทำ ชอบดู หรือประสบการณ์ที่พบเจอนอกห้องเรียน เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ทำให้รู้จักตัวตนของเด็กมากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางในการรับรู้ความชอบของผู้เรียนแต่ละคนได้อีกด้วย - สอนให้เด็กมีทักษะชีวิตให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งจากสังคมทั่วไปและสังคมออนไลน์ โดยการเชื่อมโยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าไปในบทเรียนเพื่อให้เด็กได้เกิดการคิดต่อยอด และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ "การสอนทักษะการใช้ชีวิตถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ครูหลายๆ ท่าน ยังมุ่งแต่เพียงการสอนในตำราเรียนเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เด็กส่วนใหญ่วนอยู่กับการท่องจำเนื้อหาหนักๆ การทำการบ้าน การติวเข้ม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด หากแต่จะต้องเพิ่มสาระในด้านการใช้ชีวิตเพื่อให้เด็กรู้จักปรับตัวหรือรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงเข้าไปด้วย ในบางวิชาเรียน ครูอาจจะต้องสอดแทรกเหตุการณ์สมมติที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา มากกว่าการท่องจำทฤษฎีที่มีอยู่ในแบบเรียน เช่น การคิดวิเคราะห์ง่ายๆ จากข่าวสารที่ฟัง หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันสอดแทรกในวิชาสังคม การวิเคราะห์ภาษาระหว่างการใช้ในชีวิตจริงกับการใช้ในโลกออนไลน์ในวิชาภาษาไทย ฯลฯ นอกจากนี้ ครูยังต้องมีทัศนคติเชิงบวกกับเด็กทุกๆ คนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรู้จักที่จะพัฒนาตนเอง" สมศ.ในฐานะหน่วยงานประเมินคุณภาพการศึกษา ได้กำหนดแนวทางการประเมินคุณภาพในด้านครู เพื่อสะท้อนคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องตามแผนให้อย่างเหมาะสม และช่วยให้เด็กมีความรู้ ความสามารถ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยในการประเมินคุณภาพภายนอกตลอด 20 ปีที่ผ่านมาพบว่าครูส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจด้านการประกันคุณภาพการศึกษาคลาดเคลื่อน ไม่ชัดเจน รวมทั้งยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงอยู่หลายประการ ทั้งนี้ การประเมินคุณภาพครูเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ และมีผลต่อคุณภาพของระบบการศึกษาในภาพรวม โดย สมศ.ยังมีความประสงค์ให้ครูมีการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนด และเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพ เกิดการเรียนรู้ครบถ้วนตามมาตรฐานคุณภาพที่ระบุไว้ในหลักสูตร และตรงตามความมุ่งหวังของสังคม ดังนั้นครูทุกคนจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาในการทำงาน เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพที่ดีขึ้นนางสาวขนิษฐา กล่าวทิ้งท้าย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา โทรศัพท์ 0-2216-3955 ต่อ 154-155 หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ