เรียนรู้ – ป้องกัน – ลดผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 อย่างปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Thursday January 30, 2020 09:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน หลายพื้นที่มักประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในอากาศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและในเมืองใหญ่ เนื่องจากในช่วงนี้สภาพอากาศนิ่ง ไม่มีลมพัด ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ และมีตึกสูงจำนวนมาก จึงเกิดการสะสมปริมาณฝุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง มีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละออง ดังนี้ การป้องกันการเกิดฝุ่นละออง - ไม่ทำกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ อาทิ เผาขยะ จุดธูปเทียน สูบบุหรี่ ประกอบอาหารโดยใช้เตาถ่าน - เพิ่มความชื้นในอากาศ อาทิ รดน้ำต้นไม้ ฉีดพ่นละอองน้ำ ปลูกพืชคลุมหน้าดิน จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ - หลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะขยะประเภทสารพิษ เพราะจะเพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ - ลดการใช้ยานพาหนะ โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะ ขี่รถจักรยาน หากขับรถให้เลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูง หรือใช้พลังงานทางเลือก การลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง - ทำความสะอาดโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด หลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาด เนื่องจากทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย - ปิดประตูและหน้าต่างที่พักอาศัยให้มิดชิด โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องระบายอากาศ เพื่อมิให้ฝุ่นละอองลอยเข้ามาในบ้าน - ลดหรืองดการประกอบกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นละอองปกคลุมหนาแน่น - ไม่ออกกำลังกายและทำงานที่ต้องออกแรงมากในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากการออกกำลังกายจะเพิ่มอัตราการหายใจมากขึ้นกว่าปกติ 10 - 20 เท่า ส่งผลให้ร่างกายจะสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก - ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ ลดภาวะเลือดหนืดที่ทำให้หัวใจและปอดทำงานหนัก - ไม่รองน้ำฝนมาอุปโภคบริโภค เพราะน้ำฝนอาจปนเปื้อนฝุ่นละอองและควันพิษที่ลอยอยู่ในอากาศ - ดูแลกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์ - จัดเตรียมยาที่จำเป็นไว้ให้พร้อม อาทิ ยาสามัญประจำบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและพกติดตัวไว้ หากอาการกำเริบ จะช่วยรักษาอาการในเบื้องต้น - สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากระคายเคืองตา แสบจมูก แน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์
แท็ก กระทะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ