กอปภ.ก.ประสาน 25 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน ในช่วงวันที่ 9 – 13 ก.พ. 63

ข่าวทั่วไป Friday February 7, 2020 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 25 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 9 – 13 กุมภาพันธ์ 2563 โดยประสานจังหวัดและศูนย์ ปภ. เขต ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยและเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศและตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ขณะที่กระแสลมตะวันตกจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ส่วนคลื่นลมบริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์วาตภัย ฝนฟ้าคะนอง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 9 -13 กุมภาพันธ์ 2563 แยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังวาตภัยและฝนฟ้าคะนอง ได้แก่ ภาคเหนือ 13 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ประกอบด้วย เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ได้แก่ ภาคใต้ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส นายมณฑล กล่าวว่า ขณะนี้ กอปภ.ก. ได้ประสานจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัย โดยกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย ระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนฟ้าคะนอง พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ให้ระมัดระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ