ไมเกรน โรคที่ไม่มีใครสามารถช่วยได้ นอกจากความเข้าใจ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 26, 2020 08:30 —ThaiPR.net

ไมเกรน โรคที่ไม่มีใครสามารถช่วยได้ นอกจากความเข้าใจ กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ แม้ว่า 'โรคไมเกรน' จะยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคนั้นมีทั้งปัจจัยภายในอย่างสภาพจิตใจ ความเครียด ฮอร์โมน และพันธุกรรม ไปจนถีงปัจจัยภายนอกอย่างสิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเร้าให้เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและยากที่จะหลีกเลี่ยง จนมีผลกระทบในชีวิตประจำวันและการทำงาน ซึ่งยากที่จะอธิบายให้ใครเข้าใจความเจ็บปวดนี้เพราะมันไม่เหมือนอาการปวดหัวที่คนทั่วไปรู้จัก นอกจากอาการปวดหัวอันรุนแรง ผู้ป่วยไมเกรนมักมองเห็นภาพผิดปกติ อาจจะบิดเบี้ยว เวียนหัว หูและจมูกที่ไว เหมือนสภาพแวดล้อมทางภาพและเสียงที่อยู่รอบตัวคุณเป็นปฏิปักษ์ไปเสียทั้งหมด แม้เพียงกลิ่นน้ำหอมที่เพื่อนข้าง ๆ ใส่ประจำ ก็ยังเพียงพอที่จะทำให้คุณอาเจียนได้ ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญโรคปวดศีรษะ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "โรค ไมเกรน ถูกจัดอันดับให้เป็นโรคที่คนทำงานนั้นเป็นกันมากที่สุดในโลกและยังนำไปสู่ความทุพพลภาพ หรือเป็นโรคที่มีผลกระทบอย่างมากในการใช้ชีวิต ที่มีระดับความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึงสามเท่า นั่นส่วนหนึ่งเกิดจากฮอร์โมน แพทย์จะวินิจฉัยไมเกรน จากอาการเป็นหลัก โดยที่ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ คล้ายเส้นเลือดเต้น อาจจะปวดเพียงข้างเดียวหรือปวดพร้อมกัน 2 ข้างก็เป็นได้ และจะเป็นๆ หายๆ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งนั่นอาจทรมานพอ ๆ กับอาการปวดศีรษะ ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยไมเกรนจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจังและควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่จะรักษาได้ยากขึ้น" ปัจจัยที่ทำให้สามารถเป็นโรคไมเกรนได้นั้น มี 2 ปัจจัยหลักด้วยกันคือ ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไมเกรน คนใดคนหนึ่งในครอบครัวก็สามารถส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมจนเป็นโรคไมเกรนได้ และอีกหนึ่งปัจจัยคือ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพอากาศ แสง สี เสียง หรือแม้แต่ ความร้อน ซึ่งผู้ป่วยไมเกรนมักไวต่อสิ่งแวดล้อม จนอาจมีอาการร่วมด้วย เช่น ตาสู้แสงจ้าไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งโรคไมเกรนนี้หากมีเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก็สามารถเป็นได้ และที่สำคัญ ยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากที่อาการไม่รุนแรงก็กลับกลายเป็นอาการที่รุนแรงและถี่ขึ้น จนอาจถึงขั้นเรื้อรังและรักษาได้ยากในที่สุด ฉะนั้นผู้ป่วยไมเกรนจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีปัจจัยกระตุ้นใดบ้างที่ทำให้เกิดอาการเนื่องจากแต่ละคนจะมีปัจจัยกระตุ้นที่แตกต่างกัน การรักษาโรคไมเกรนสามารถรักษาได้ทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งการรักษาแบบไม่ใช้ยานี้ ประกอบไปด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ยาเป็นการรักษาเสริมได้ เช่น การลดความตึงเครียดผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การนั่งสมาธิ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสาร Endorphin หรือแม้กระทั่ง ดนตรีบำบัด (Music therapy) และ อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) ที่ช่วยบำบัดรักษา เพิ่มความผ่อนคลายจากความเครียดได้ กว่า 50% ของผู้ป่วยไมเกรน ยังปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นไม่เพียงพอ ทำให้โรคไมเกรนกำเริบบ่อยได้ โดยการปฎิบัติตัวที่เหมาะสมต่อไมเกรน ได้แก่ - ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน: เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพและการขาดสมดุลน้ำในร่างกาย ทำให้สมองเกิดการปรับตัวที่ผิดปกติ และปวดหัวไมเกรนได้ - หลีกเลี่ยงการอดอาหาร: การทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้ไมเกรนกำเริบได้ เนื่องมาจากระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่ต่ำเกินไปจนผลต่อสมองและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น - หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้วปวดมากเกินไป: หากรับประทานยาแก้ปวดติดต่อกันมากกว่า 3-4 วันต่อสัปดาห์ อาจนำไปสู่ "อาการปวดศีรษะเนื่องมาจากการใช้ยาเกินขนาด" ได้ ดังนั้น หากเริ่มปวดศีรษะบ่อย หรือ ใช้ยาแก้ปวดบ่อยขึ้น ควรต้องปรึกษาแพทย์ - พักผ่อนให้เพียงพอและเหมาะสม: อาการปวดไมเกรนจะเกิดขึ้นหากผู้ป่วยไม่มีการจัดตารางการนอนให้เหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากอาจเข้าใจว่าโรคไมเกรนเกิดจากการนอนหลับไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ความจริงแล้วการนอนหลับมากเกินไป เช่น เกินกว่า 8-9 ชั่วโมงก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคไมเกรนได้ - รักษาอาการปวดเฉียบพลันให้ถูกต้อง: หากเกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรอดทนและละเลยกับอาการเหล่านั้น ทางที่ดีให้รีบหาที่นั่งพัก ซึ่งควรเป็นที่เงียบสงบเพื่อเลี่ยงสิ่งกระตุ้น อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นวางประคบบนหน้าผาก ทานยาแก้ปวด นอกจากนี้ การนวดศีรษะก็อาจทำให้บรรเทาอาการปวดไมเกรนได้เช่นกัน - จดสิ่งกระตุ้นไมเกรน เช่น อาหารกระตุ้นไมเกรน: อาหารบางชนิดที่รับประทานอยู่ทุกวัน อาจเป็นตัวการทำให้ผู้ป่วยปวดไมเกรนได้โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคไมเกรน ได้แก่ อาหารจำพวกชีส ถั่ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารไนเตรตในอาหาร (Nitrate) ซึ่งมักพบได้ในไส้กรอก เบคอน และอาหารแปรรูปชนิดอื่นๆ สุดท้ายนี้ เพราะโรคไมเกรนมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ต้องขาดงาน ขาดเรียนบ่อย ๆ จนอาจถูกเพ่งเล็งในทางลบจากคนในองค์กร ดังนั้น "ความเข้าใจจากคนรอบข้าง" จึงสำคัญมาก อย่างไรก็ตามความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน ผู้ป่วยควรบอกเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้นให้คนรอบข้างรับรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ ในขณะที่คนรอบข้างเองก็ควรเปิดใจรับฟัง ทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือในส่วนที่สามารถช่วยได้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และมีความสุขได้ไม่จำกัดแม้ต้องอยู่กับไมเกรนก็ตาม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ