อธิการบดี สจล. พาบุกกรุงโตเกียว ไขเคล็ดลับเมืองต้นแบบการศึกษา – สมาร์ทซิตี้

ข่าวทั่วไป Thursday February 27, 2020 15:03 —ThaiPR.net

อธิการบดี สจล. พาบุกกรุงโตเกียว ไขเคล็ดลับเมืองต้นแบบการศึกษา – สมาร์ทซิตี้ กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ พี่เอ้ สจล. พบผู้ว่ากรุงโตเกียว ถอดรหัสเดินหน้าการศึกษาไทยอย่างไรขีดจำกัด พร้อมผลักดันกรุงเทพฯ สู่สมาร์ทซิตี้ ภายใต้แคมเปญ GO Beyond the Limit “โตเกียว” เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีจำนวนประชากรมากกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่า อีกทั้งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรม หรือเมืองที่ผลิตรถยนต์จำนวนมาก ในขณะเดียวกันโตเกียวก็ยังเป็นเมืองน่าอยู่อันดับต้นๆ ของโลก รถไม่ติด มีอากาศบริสุทธิให้หายใจ อีกทั้งมีระบบสาธารณูปโภคที่ทุกคนเข้าถึงได้ เมื่อเร็วๆ นี้ พี่เอ้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้มีโอกาสเข้าพบ นางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น เพื่อถอดรหัสลับความเป็นเมืองน่าอยู่ในทุกด้านของกรุงโตเกียว ซึ่งพี่เอ้ได้นำประสบการณ์ที่ได้รับจากการพบผู้ว่ากรุงโตเกียวมาแบ่งปันในบทความนี้ และหวังว่ากรุงเทพฯ หรือประเทศไทยของเรา จะได้เรียนรู้สิ่งที่ดีๆ จากโตเกียว และก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างไร้ขีดจำกัดได้เช่นกัน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล่าว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักของการมาเยือนกรุงโตเกียวในครั้งนี้ คือการแกะรอยความเป็นสมาร์ทซิตี้ของกรุงโตเกียว ซึ่งพี่เอ้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเรื่องของเมือง การจราจร ปัญหาน้ำท่วม ฝุ่นพิษ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนเมือง ตลอดจนการยกระดับการศึกษา และอื่นๆ จากท่านผู้ว่าฯ หญิงแกร่ง พร้อมทีมงานผู้บริหารกรุงโตเกียว ซึ่งพี่เอ้พบว่าคำตอบของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของกรุงโตเกียว คือการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา เพราะการแก้ปัญหาเมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อน ต้องแก้ด้วยวิธีที่ชาญฉลาด ไม่ธรรมดา รวมถึงการวางแผน และแนวทางการจัดการที่เป็นระบบ ศ.ดร.สุชัชวีร์ เล่าต่อว่า คนญี่ปุ่นมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้ อีกทั้งเป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียวที่มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้รับรางวัลระดับโนเบล ซึ่งจุดกำเนิดความสำเร็จของญี่ปุ่นคือ “การศึกษา” ญี่ปุ่นมีกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือเรียกสั้นๆ ว่า 'เม็กซ์’ ทำหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกับด้านอื่นๆ เพื่อสร้างสุดยอดคนญี่ปุ่นที่มีความพร้อมเป็นพลเมืองโลก กระทรวงเม็กซ์ ของญี่ปุ่น มีเสาหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาคนใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เนื้อหาวิชาการที่เข้มข้น 2) ปลูกฝังศีลธรรม และจิตสำนึกพลเมืองดี และ 3) สร้างเสริมสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่เด็ก ดังนั้น เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่จึงเป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีร่างกายที่แข็งแรง นอกจากนี้ พี่เอ้ยังมีโอกาสได้ไปเยือนโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ในสังกัดมหาวิทยาลัยโตไก บรรยากาศของโรงเรียนดูธรรมดา เรียบง่าย เด็กๆ มีความเป็นธรรมชาติ กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ที่นี่ไม่มีการแยกสายวิทย์ สายศิลป์ เพราะการศึกษาท่ามกลางยุคดิสรัปชันเช่นนี้ เด็กรุ่นใหม่ต้องเก่งทั้งวิทย์และศิลป์ไปพร้อมกัน โรงเรียนแห่งนี้ยังผลิตทั้งนักกีฬา นักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์โอลิมปิก เพราะต้องการให้เด็กเก่งทั้งด้านวิชาการ และกีฬาไปพร้อมกัน อีกหนึ่งจุดเด่นของโรงเรียนแห่งนี้คือการจัดการเรียนการสอนแบบเสาร์เว้นเสาร์ ด้วยวิชาทางเลือกที่นักเรียนสนใจ ไม่ว่าจะเป็น วิชาศิลปะ ภาษาที่สาม ภาษามือ การเขียนโปรแกรม การสั่งการหุ่นยนต์ ทำให้เด็กๆ อยากมาเรียนแม้ว่าจะเป็นวันเสาร์ ความสำเร็จของการศึกษา ไม่ใช่ความใหญ่โตของอาคาร แต่คือ “จิตวิญญาณของความเป็นโรงเรียนที่เน้นการสร้างคน” และ “จิตวิญญาณของครูผู้เสียสละ” อย่างไรก็ตาม พี่เอ้ยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโตไก โครงการอุโมงค์ยักษ์ที่ใช้ป้องกันน้ำท่วมในโตเกียว รวมถึงได้ลองวิ่งสูดอากาศยามเช้าในพื้นที่สาธารณะเหมือนคนเมืองโตเกียว พี่เอ้ตั้งข้อสังเกตว่าภาครัฐของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ และการเข้าถึงสาธารณูปโภค ตลอดจนการมีสุขภาพที่แข็งแรงของคนญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในยกระดับเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างรอบด้าน และพี่เอ้เชื่อว่าถ้าเมืองใหญ่อย่างโตเกียวสามารถก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ กรุงเทพฯ ของเราก็ต้องทำได้เช่นกัน การเดินทางมากรุงโตเกียวของพี่เอ้ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉลองครบรอบพระจอมเกล้าลาดกระบัง 60 ปี ไร้ขีดจำกัด ภายใต้แนวคิด KMITL 60 Years GO Beyond the Limit ซึ่งพี่เอ้เชื่อว่าการเรียนรู้จากคนเก่ง จะสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาพัฒนาประเทศไทยได้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ สจล. ในการเป็นมหาวิทยาลัยรากฐานนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคมไทย ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ